xs
xsm
sm
md
lg

ตำนาน “ดาบอาญาสิทธิ์” จากมาตรา 17 ถึงมาตรา 44

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ในกรณีวัดพระธรรมกาย เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าการใช้อำนาจดังกล่าวนั้น ทำให้คนตายโดยทางอ้อมไปแล้วถึงสองศพ

ทั้งข่าวที่มีคนผูกคอตายประท้วงการใช้อำนาจตามมาตรานี้ไปเมื่อวันเสาร์ และกรณีล่าสุดที่กล่าวอ้างว่า มีผู้ป่วยซึ่งเป็นลูกศิษย์ของวัดต้องสังเวยชีวิต เพราะเหตุที่รถกู้ชีพนั้นติดด่านทหารและ DSI ที่รักษาการตามคำสั่งมาตรา 44 จนไปให้การช่วยเหลือไม่ทัน กรณีหลังนี้เพิ่งได้รับการเปิดเผยสดๆ เมื่อวานนี้ (พุธที่ 1 มี.ค. 60) จึงอาจจะต้องรอความชัดเจนกันต่อไป

ในขณะที่ดูเหมือนปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกายก็ยังยืดเยื้อ แม้จะมีมาตรา 44 แล้ว ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้สะเด็ดน้ำตามวัตถุประสงค์สมกับที่ใช้ยาแรง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา 44 ขึ้นมา ก็เล่นเอาท่านนายกฯ ที่สวมหมวกอีกใบเป็นหัวหน้า คสช.ผู้มีอำนาจเต็มในการออกคำสั่งตามมาตรา 44 นี้ถึงกับมีน้ำโหออกมาขู่แบบทีเล่นทีจริงว่า เดี๋ยวจะยกระดับไปอีกสองเท่า เป็นมาตรา 88 เสียเลย รวมถึงโฆษกของ คสช. คือ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ก็ออกมาสำทับว่า ปัญหาร่วมกันของคนในประเทศ คือกฎหมายอะไรก็ยุติคนไม่ดีไม่ได้ ถ้าวันข้างหน้าไม่มีมาตรา 44 และไม่มี คสช.แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 นั้นเป็นเหมือน “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจของหัวหน้าคณะ คสช.ที่จะหยิบจับมาใช้ได้เมื่อจำเป็น เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ ได้แก่ “เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร”

ข้อแข็งของ “อำนาจพิเศษ” มาตรา 44 นี้ อยู่ที่การใช้อำนาจนั้นจะครอบคลุมไปถึงทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เรียกว่าใช้อำนาจอย่างเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” เลยก็ว่าได้

ดังนั้น บางเรื่องที่ติดขัดจะต้องกระทำตามขั้นตอนของกฎหมาย และกฎระเบียบ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก หรือบางกรณีก็เป็นเรื่องที่ติดกรอบที่กฎหมายไม่เปิดช่องไว้ ซึ่งลำพังการแก้ปัญหาด้วยอำนาจบริหารของเพียงมือเดียวนั้นก็ทำไม่ได้ เพราะต้องมีมือของอำนาจนิติบัญญัติไปแก้กฎหมายก่อน

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้โดยตรง ก็เป็นเรื่องที่ตัดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคนั้นลงได้ เพราะการใช้อำนาจครอบคลุมเบ็ดเสร็จทุกอำนาจ หากจะมีกฎหมายใดที่ขัดกับคำสั่งที่ออกตามมาตรา 44 ก็จะถูกยกเลิกและทดแทนด้วยคำสั่งดังกล่าว ที่ถือเป็นอำนาจนิติบัญญัติด้วยในตัว

มาตรา 44 นั้นจึงมีสภาพเหมือนเป็น “ยาแรงครอบจักรวาล” ที่ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลโดยการตัดสินใจของ คสช.เท่านั้นที่เลือกใช้ แต่กลายเป็นว่าใครๆ ที่มีปัญหาติดขัดแก้ไม่ได้ ก็มาเข้าคิวกันขอให้ คสช.ช่วยแก้ปัญหาด้วยวิธี “พิเศษ” ตามมาตรานี้ทั้งหมด

การใช้อำนาจตามมาตรานี้ มีตั้งแต่เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญ เช่น การโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว การออกมาตรการหรือนโยบายเพื่อการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ปรับปรุงการบริหารงานในหน่วยงานของรัฐ แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ตั้งกรรมการสรรหา ป.ป.ช.การแก้ปัญหาเรื่องศาสนาและการศึกษา ที่เป็นปัญหาถกเถียงไม่ถูกใจกันอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปจนถึงเรื่องหยุมหยิมๆ เช่น แก้ปัญหาการขายหวยเกินราคา

หากกล่าวกันในทางประวัติศาสตร์กฎหมายและการเมือง มาตรา 44 นี้เป็น “มรดก” ตกทอดมาจากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา 17 ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เราเรียกกันติดปากภาษาชาวบ้านว่า ใช้อำนาจตาม “มาตรา 17”

การใช้อำนาจตามมาตรา 17 ซึ่งโด่งดังเป็นที่จดจำของประชาชนจนถึงทุกวันนี้ เห็นจะได้แก่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้แทนอำนาจตุลาการ ประหารชีวิตผู้กระทำความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์เพื่อเอาประกัน หรือเผาเพื่อไล่ที่ ซึ่งเคยเป็นปัญหาเรื้อรังในสมัยก่อน ที่พอเวลาตรุษจีนทีไรต้องมีไฟไหม้ทุกที ทำให้ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องเดือดร้อนวอดวายไปด้วย พอท่านจอมพลสฤษดิ์มาใช้มาตรา17 ประหารชีวิตผู้ก่อเหตุวางเพลิง (ซึ่งเขาว่าบางครั้งแค่เป็นเจ้าของบ้านต้นเพลิงเท่านั้น) ปัญหาไฟไหม้ในลักษณะเป็นการวางเพลิงนั้นก็หายขาดลงทันที

นอกจากนี้ มาตรา 17 ยังใช้ในการประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติด หรือผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ด้วย แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีข้อกังขากันว่า บรรดาผู้ที่ถูกมาตรา 17 ประหารไปนั้น บ้างก็มีศัตรูทางการเมืองหรือผู้ที่ต่อต้านอำนาจของท่านติดร่างแหไปด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็น “ตำนาน” ว่าด้วยความเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ที่แม้ปัจจุบันนี้ ยังมีคนโหยหาอยากได้ผู้นำแบบท่านจอมพลสฤษดิ์กลับมา ในยุคสมัยที่อาชญากรรมเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง คนประเภทอสรพิษกุ๊ยเป็นที่นับหน้าถือตาคนค้ายานักเลงหัวไม้เป็นเน็ตไอดอล

อย่างไรก็ตาม มาตรา 17 นี้ก็กลายเป็น “หอก” ที่กลับมาทิ่มแทงจอมพลสฤษดิ์เองจนได้ เพราะหลังจากที่ท่านวายชนม์ไปแล้ว จอมพลถนอมที่เป็นเหมือน “ทายาททางการเมือง” และผู้สืบทอดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ก็มาอาศัยอำนาจตามมาตราเดียวกันนี้ สั่งยึดทรัพย์ของท่านจอมพลสฤษดิ์ไปร่วม 600 กว่าล้านบาท ตามค่าเงินในสมัยนั้น ที่ทองคำบาทละ 400 บาท ปัจจุบันราคาทองคำบาทละตีกลมๆ ก็ 20,000 บาท ก็เท่ากับตีเป็นเงินของสมัยนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท เกือบเท่าตอนที่ “ทักษิณ” ถูกศาลยึดทรัพย์ไปกว่า 40,000 ล้านนั่นเลย

หลังจากมีมาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญปี 2502 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของไทย ก็มีมาตราที่ล้อข้อความของมาตรา 17 นี้ตามออกมาหลายฉบับ เช่นในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2515 รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2520 และปี 2534 เป็นมาตรา 27

แต่ก็ไม่มียุคสมัยใดที่มีการใช้อำนาจพิเศษในลักษณะเดียวกับมาตรา 17 นี้ อย่างปรากฏชัดเจนเป็นที่จดจำและกล่าวถึงอีก จนกระทั่งมาถึงยุคมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งถ้าจะว่าไป นับว่าหัวหน้า คสช.นั้นใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้อย่างคุ้มค่าเต็มที่มากๆ เพราะเรียกได้ว่าในแทบทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย สุดท้ายถ้าแก้ไม่ได้จริงๆ ก็จะต้องไป “สุด” กันที่มีคำสั่งตามมาตรา 44

ขาดเหลือก็แต่การสั่งประหารชีวิตแบบทันใจอย่าง “มาตรา 17” หรือการใช้คำสั่งตามมาตรานี้แทนอำนาจตุลาการเท่านั้นเองที่ยังไม่มี และคงจะไม่มี

จุดแข็งอีกอย่างของอำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 และมาตรา 17 คือการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจตามมาตรานี้ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นที่สุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ดังนั้น การใช้อำนาจตามมาตรานี้ จึงไม่อาจไปฟ้องร้องต่อศาล หรือขอให้ตรวจสอบในทางใดได้อีก ด้วยเหตุนี้ “ผู้สั่งการ” ด้วยอำนาจพิเศษตามมาตรานี้พ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ไม่ว่าจะทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง

ส่วนความรับผิดทางการเมือง หรือต่อประชาชนนั้น ท่านผู้เป็นเจ้าของต้นตำรับ มาตรา 17 คือจอมพลสฤษดิ์มีคติประจำตัวที่คนสมัยนั้นจดจำได้ขึ้นใจว่า เมื่อท่านใช้อำนาจอะไรก็ตาม ก็จะประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว” คือเอาเกียรติยศของท่านค้ำประกันการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทั้งหลาย และในการตัดสินใจทั้งปวง

การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 โดยแอ่นอกรับผิดแต่เพียงผู้เดียว จึงทำให้จอมพลสฤษดิ์ เป็นตำนานแห่งความเด็ดขาดมาจนทุกวันนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น