สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ออกมารายงานถึงการที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ และขั้นสูง สำหรับบริการรถยนต์ร่วมเดินทางแบบออนไลน์ที่ให้บริการภายในประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถเปรียบเทียบราคาได้ และทำให้ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลงว่า ผู้ขับรายใหม่เข้ามาแย่งตลาดนั่นเอง
โดยสถานการณ์การแข่งขันด้านผู้ให้บริการร่วมเดินทางในอินโดนีเซียนั้น พบว่า ผู้ให้บริการ เช่น อูเบอร์ เทคโนโลยี (Uber Technologies) จากสหรัฐอเมริกา ค่ายแกร็บ (Grab) จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโก-เจ็ก (GO-JEK) จากอินโดนีเซียนั้น กำลังแข่งกันอย่างหนักเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซีย เผยว่า การกำหนดอัตราภาษีสำหรับบริการร่วมเดินทางนี้อยู่ระหว่าง 3,500-6,000 รูเปีย หรือประมาณ 8.92-15 บาทต่อกิโลเมตร สำหรับการให้บริการบนเกาะชวา, บาหลี และสุมาตรา ส่วนเกาะอย่างกาลิมันตัน, สุราวาสี, Nusa Tenggara, Maluku และปาปัว นั้น จะอยู่ระหว่าง 3,700-6,500 รูเปียต่อกิโลเมตร หรือประมาณ 9.4-16 บาท
โดยกฎดังกล่าวจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ และจะมีการประเมินผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า
สำหรับผู้ให้บริการแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายของอินโดนีเซียนั้น เป็นบริษัทชื่อ พีที บลูเบิร์ด ทีบีเค และพีที เอ็กซ์เพรส ทรานซินโด อูทามา ทีบีเค ซึ่งที่ผ่านมา มูลค่าหุ้นของทั้งสองบริษัทร่วงลงอย่างต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนกังวลว่า จะไม่สามารถแข่งขันกับบริการร่วมเดินทางที่มีอัตราค่าโดยสารถูกกว่าได้
โดยอูเบอร์ได้ส่งอีเมลแจ้งต่อทางรอยเตอร์แล้วว่า เพิ่งได้รับเอกสารจากทางการอินโดนีเซีย พร้อมบอกว่า ยินดีจะทำงานร่วมกับรัฐบาล และจะหาทางทำความเข้าใจกับพาร์ตเนอร์ผู้ขับต่อไป ด้านแกร็บ และโก-เจ็ก ยังไม่มีคำตอบใด ๆ