xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้จะ 3 หมื่นชื่อ! “อูเบอร์” ล่ารายชื่อร้องรัฐสนับสนุน “บริการร่วมเดินทาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อูเบอร์” รุกผ่านโซเชียล ล่ารายชื่อชู “บริการร่วมเดินทาง” แก่ภาครัฐ อ้างเป็นทางเลือก หนุนนโยบายรัฐบาล ประเทศไทย 4.0 ตั้งเป้า 3 หมื่นรายชื่อ ล่าสุด พุ่ง 2.5 หมื่นแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (10 มี.ค.) ในเว็บไซต์อูเบอร์ ได้เปิดแคมเปญล่ารายชื่อประชาชนผ่านทางอินเทอร์เน็ตในหัวข้อ “ร่วมสนับสนุนให้รัฐบาลรองรับบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing)” โดยระบุว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฉบับปัจจุบัน ยังไม่รองรับการให้บริการร่วมเดินทาง ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้บนสมาร์ทโฟน รวมทั้งยังไม่ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่จะก้าวข้ามไปสู่ประเทศไทย 4.0 จึงเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันร่วมลงชื่อสนับสนุนให้รัฐบาลออกกฎหมายมารองรับบริการร่วมเดินทาง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของคนไทยและนักท่องเที่ยว และที่สำคัญ คือ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยในการจัดการระบบการขนส่ง เช่น ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยรถสาธารณะที่มีอยู่ และแก้ไขปัญหาการจราจร รวมทั้งทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ อูเบอร์ยังชูข้อดี คือ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้บนสมาร์ทโฟนที่แตกต่างจากการให้บริการของแท็กซี่ ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร, มีนโยบายไม่ปฏิเสธการเดินทางหรือจุดหมายปลายทาง, ให้ความสำคัญต่อมาตรการความปลอดภัยในทุกช่วงของการเดินทาง, ผู้โดยสารที่ใช้ Uber ได้รับบริการที่มีคุณภาพและความพึงพอใจในการเดินทาง รวมทั้งมีบริการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีค่าโดยสารที่โปร่งใสเป็นมิตรกับผู้โดยสาร โดยมีเป้าหมายต้องการรายชื่อให้ได้ 30,000 รายชื่อ โดยให้กรอกลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ https://action.uber.org/th/ ทั้งนี้ ณ เวลา 16.35 น. ที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 25,800 คน



ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มี.ค. กรมการขนส่งทางบก สนธิกำลังตำรวจและทหาร ล่อซื้อจับกุมรถโดยสารผิดกฎหมายอูเบอร์ ในเขตกรุงเทพฯ อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพจตุจักร (หมอชิต 2) สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ม.เกษตรศาสตร์ เซ็นทรัลลาดพร้าว สยามพารากอน พบว่า มีผู้กระทำความผิดทั้งสิ้น 18 ราย ก่อนเปรียบเทียบปรับในข้อหาใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่ได้จดทะเบียนไว้ 2,000 บาท ขณะที่สำนักงานขนส่งเชียงใหม่ ได้ตั้งด่านตรวจตรารถยนต์ส่วนบุคคลที่รับผู้โดยสารที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ และทำการล่อซื้อคนขับอูเบอร์และแกร็บคาร์ ไปที่สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนทำการจับปรับ

ต่อมา นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า แอปพลิเคชันในการเรียกใช้บริการแท็กซี่นั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่อนุญาตให้นำแอปพลิเคชันไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร เพราะเป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย และกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์เป็นอันตรายต่อความปลอดภัย ภาครัฐจะไม่สามารถติดตามรถ หรือคนขับรถมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ และยืนยันว่า พร้อมให้การสนับสนุนแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ในทุกมิติ


กำลังโหลดความคิดเห็น