xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดวอร์ UBER รีดภาษีแม่ค้าออนไลน์ วิบากกรรม “ไทยแลนด์ 4.0” ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมการขนส่งทางบก  ในปฏิบัติการ “ล่อซื้ออูเบอร์”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถูกใจประชาชนแต่ไม่ถูกกฎหมาย สำหรับ เท็กซี่ “อูเบอร์ (UBER)” ที่กำลังสั่นสร้างความขัดแย้งในภาคธุรกิจแบบเก่า มิหน้ำซ้ำบรรดา “โชเฟอร์อูเบอร์” ผู้หาเช้ากินค่ำยังถูกกรมการขนส่งทางบก ไล่บี้แบบถึงพริกถึงขิงในปฏิบัติการ “ล่อซื้อ” โดนจับโดนปรับกันยกใหญ่

รวมกระทั่งถึง กรมสรรพากรเดินเครื่องเต็มกำลัง “เก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) รวมถึงบรรดาเพจดังและเน็ตไอดอล พร้อมจัด “ทีมล่อซื้อ” งานนี้เตรียมจ่ายภาษีกันเต็มๆ

และนั่นเป็นที่มาของคำถามสำคัญว่า เป็นสิ่งที่สวนทางกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลหรือไม่

อูเบอร์แท็กซี่แทรกซึมระบบขนส่งสาธารณะไปทั่วโลก และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้บริการจำนวนมากรวมทั้งในประเทศไทย อาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ทางสังคมที่เข้ามาทะลายกรอบระบบการขนส่งสาธารณะรูปแบบเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ และก้าวผ่านข้อจำกัดด้านบริการของบรรดาแท็กซี่สีลูกกวาด

เพียงแต่อูเบอร์ยังติดปัญหาในข้อกฎหมาย เช่นเดียวกับที่กำลังเผชิญทั่วโลก รวมทั้งสร้างความขัดแย้งทางธุรกิจจนถูกแบนในหลายประเทศ

ทั้งนี้ ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา กรมขนส่งทางบก เดินหน้าเต็มสูบในปฏิบัติการล่อซื้อจับกุมอูเบอร์แท็กซี่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมการขนส่งฯ ล่อซื้อและจับกุมอูเบอร์ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มากกว่า 10 คัน โดยดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ข้อหานำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้าง หรือใช้รถผิดประเภท มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พร้อมทำทะเบียนประวัติผู้รับจ้างหรือคนขับ หากกระทำผิดซ้ำซาก อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์

ต้นเดือนมีนาคมเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง กรมการขนส่งฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ล่อซื้อจับกุมผู้ขับรถอูเบอร์อีก 18 ราย ประกอบด้วย รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) 16 คัน รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายแดง) 1 คัน และรถยนต์บริการ (ลีมูซีน) 1 คัน และดำเนินคดีในข้อหาใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่ได้จดทะเบียนไว้ ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ มาตรา 21 ประกอบกับมาตรา 60 เปรียบเทียบปรับในอัตราโทษสูงสุด จำนวน 2,000 บาท และในข้อหาใช้รถโดยไม่จดทะเบียน ตามมาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 59 เปรียบเทียบปรับในอัตราโทษสูงสุด จำนวน 2,000 บาท รวมทั้งสิ้น 4,000 บาท พร้อมทั้งดำเนินการปรับทัศนคติ และอบรมข้อกฎหมายเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง ตลอดจนบันทึกและจัดทำประวัติผู้กระทำความผิดไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่กรณีกระทำผิดซ้ำอีก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาของอูเบอร์สู่ปฏิบัติล่อซื้อในครั้งนี้ ทางกรมการขนส่งฯ ได้อธิบายว่า อูเบอร์แท็กซี่ให้บริการอย่าผิดกฎหมาย เนื่องจากรถที่จะนำมาวิ่งต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งฯ รวมทั้ง หากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารจะไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก ต้องไปร้องเรียนทางบริษัทอูเบอร์เอง

“ถามว่า.. ในเมื่อมันไม่ถูกกฎหมายแต่ทำไมถึงเข้ามาเติบโตในไทยได้ เพราะกลไกของเทคโนโลยีครับ มันสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้โดยที่ข้ามหัวราชการไปเลย ลัดวงจรไปเลย แต่เมื่อกิจกรรมตัวนี้มันโตขึ้นระดับหนึ่ง มันก็ถึงเวลาที่ต้องถูกตรวจสอบ อย่างกรณีปัญหาเรื่องแท็กซี่ทั้งหมดนี้ มันเหมือนมี Trigger (ตัวปัญหา) สะกิดว่าเราต้องมาจัดการมันนะ สำหรับกรณีนี้ Trigger ตัวแรกก็คือ 'ผู้ประกอบการแท็กซี่ที่เสียผลประโยชน์' ตัวที่สองก็คือ 'ประชาชนที่เรียกร้องให้มีบริการแบบนี้' และตัวสุดท้าย 'เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ตรวจการขนส่งที่คอยเฝ้าระวังการบริการเหล่านี้' ซึ่งต้นเหตุของการเกิดประเด็นนี้ขึ้นมาน่าจะเป็นฝั่งคนขับแท็กซี่ปกติ เหมือนที่เกิดปัญหาในสิงคโปร์เลยครับ รูปแบบเดียวกัน จากนั้นหน่วยงานราชการก็เลยต้องเข้ามาสร้างกติกากำกับ Uber ที่น่าสนใจคือ การเข้ามาสร้างกติกาของภาครัฐสิงคโปร์ เขาตั้งอยู่บนพื้นฐาน การถือเอาประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ก็เลยสามารถหาทางออกได้” รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้วิเคราะห์ทิศทางการให้บริการของอูเบอร์ในเมืองไทย

ขณะที่ทางด้านตัวแทนอูเบอร์ประเทศไทย เข้าหารือและชี้แจ้งกับกรมขนส่งฯ อย่างต่อเนื่อง โดยอธิบายว่า อูบอร์เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้ พร้อมทั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการออกกฎหมายเพื่อมารองรับระบบการให้ถูกต้อง

เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาครัฐจะทบทวนทำความเข้าใจนวัตกรรมใหม่ของระบบขนส่งสาธารณะ ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวก เพื่อเดินหน้าตามนโยบายเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 ตั้งกฎกติกาจดทะเบียนจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง สร้างกลไกสร้างรายได้แก่รัฐอีกช่องทางหนึ่ง และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

อีกประเด็นที่น่าจับตาไม่แพ้กัน คือการจัดเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ของกรมสรรพากร ซึ่งจัดทีมล่อซื้อรวมทั้งโปรแกรมล่อซื้อเพื่อทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เตรียมการแก้กฎหมายให้ทันยุคทันสมัย

ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์นั้นต้องแยกเป็นหลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจออนไลน์มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่ขายสินค้าผ่านโซเชียลฯ ถือว่าเป็นผู้มีรายได้ หากถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องเสียภาษี

“เราคอยตามดูอยู่ แม้ว่าวิธีการนี้จะเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน โดยเฉพาะผู้ค้าออนไลน์ที่เป็นตัวบุคคลใช้พื้นที่หน้าเฟซบุ๊ก ขายผ่านไลน์ ซึ่งเรากำลังดูว่าคนเหล่านี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งรูปแบบการเสียภาษี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ายอดขายถึง 1,800,000 บาทต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าไม่ถึง 1,800,000 บาทก็ยังไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

“จะจัดทีมไว้สแกนหาเว็บไซต์หรือบล็อกเกอร์ที่ได้รับความนิยม และมียอดขายโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเขาขายได้ 1,000,000 บาท กำไรอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ หักค่าใช้จ่ายเหลืออยู่ 200,000 บาท 50,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษี โดยเราจะเก็บข้อมูลเข้าระบบตลอดเวลาและจะทำการล่อซื้อให้มีหลักฐานทางการเงินเหมือนกระทรวงพาณิชย์” อธิบดีกรมสรรพากรอธิบาย

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบผ่านโปรแกรมตรวจสอบ เว็บไซต์ใดมีคนเข้าไปดูและทำการซื้อขายมากที่สุด ตรวจสอบการออกใบกำกับภาษีและเสียภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2560 ได้ตามเป้าหมาย 1.86 ล้านล้านบาท จากการเก็บภาษีในรอบ 5 เดือนแรกที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ 6,000 ล้านบาท

กล่าวคือ หากเป็นประเภทบุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด เช่นเดียวกัน หากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กำหนดโครงสร้างภาษีดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล ต้องนำเงินได้จากอีคอมเมิร์ซไปรวมคำนวณ กับเงินได้จากแหล่งอื่นถ้ามี เช่น เงินเดือน ดอกเบี้ย โดยยื่นแบบ แสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.94 ภายในเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน ของปี และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ภายในเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป เงินได้สุทธิ 1 - 150,000 บาท ได้รับยกเว้น, เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทอัตรา 5%, เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตรา 10%, เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทอัตรา 15%, เงินได้สุทธิ 750,001-1,00,000 บาทอัตรา 20%, เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทอัตรา 25%, เงินได้สุทธิ 2,000,001-4,000,000 บาทอัตรา 30%, เงินได้สุทธิ 4,000,000 ขึ้นไปอัตรา 35%

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือนิติบุคคลต่างประเทศที่มีสาขาในประเทศไทย มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อที่อยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม ต้องนำรายได้จากการประกอบกิจการ มารวมคำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไข ที่ระบุไว้ในมาตรา65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หากกิจการขาดทุนสุทธิไม่ต้องเสียภาษี โดยยื่นแบบ แสดงรายการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 1 - 300,000 บาท ยกเว้น, 300,001-1,000,000 บาท15%, 1,000,001 บาทขึ้นไป20%

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในประเทศไทย หรือผู้นำเข้าสินค้า โดยผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่มีรายรับเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม

แน่นอนว่า การจัดเก็บภาษีถือเป็นกลไกลในการหารายได้ของรัฐ ไล่เบี้ยมาแล้วก็ให้นำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

ทว่า ข้อยุติของรัฐจะจัดการเปลี่ยน “อูเบอร์” ให้ถูกกฎหมายสอดรับกับการพัฒนาประเทศได้หรือไม่ แล้วการเรียกเก็บ “ภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” จะสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้หรือไม่คงต้องจับตาดูกันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น