หัวเรือใหญ่บริษัทเทคโนโลยีทรงอิทธิพล 18 แห่งตบเท้าร่วมประชุมประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมระดมสมองในการปฏิรูปบริการของรัฐบาลให้ทันสมัยโมเดิร์นยิ่งขึ้น
ส่วนหนึ่งของ 18 ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ซีอีโอบริษัทแอมะซอน “เจฟ เบโซส”, ซีอีโอแอปเปิล “ทิม คุก”, ซีอีโอไมโครซอฟท์ “สัตยา นาเดลลา”, และผู้บริหารอาวุโสของอัลฟาเบต ต้นสังกัดกูเกิล “อิริก ชมิดต์”
งานประชุมนี้ไร้เงา “อีลอน มัสก์” ซีอีโอ บริษัทรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสลา ที่ไม่เข้าร่วมประชุม หลังจากที่เขาไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีทรัมป์ เรื่องการถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงโลกร้อนปารีส และ “มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก ที่ให้เหตุผลเหมือนกันว่า “ตารางงานไม่ตรงกัน”
ทั้งหมดร่วมกันหารือในหัวข้อหลากหลาย เช่น ความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง การปฏิรูปสัญญาว่าจ้างด้านเทคโนโลยีของรัฐ และการออกวีซาสำหรับคนต่างชาติที่มีทักษะสูงให้ทำงานในสหรัฐฯ ได้ ในรูปแบบวีซ่าเอช-1บี
ประเด็นที่น่าสนใจจากการประชุมครั้งนี้ คือ ทิม คุก แจ้งต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ตรงไปตรงมาเรื่องนโยบายตรวจคนเข้าเมือง โดยบอกว่า พนักงานบริษัทไอทีทุกวันนี้ล้วนกังวลว่า จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ซีอีโอแอปเปิลเคยเปิดเผยมาก่อนว่า มีพนักงานแอปเปิลรายหนึ่งต้องติดค้างในต่างประเทศชั่วคราวเมื่อมีการออกกฎหมายห้ามคนเข้าเมือง
ทั้งหมดนี้ ซีอีโอแอปเปิล เคยระบุในอีเมลถึงพนักงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า เขาจะเป็นตัวแทนพนักงานส่งต่อความกังวลเหล่านี้ พร้อมกับย้ำว่า นี่ไม่ใช่นโยบายที่แอปเปิลสนับสนุน
สำหรับการประชุมครั้งนี้มี “จาเร็ด คุชเนอร์” ที่ปรึกษาอาวุโสของทำเนียบขาว ซึ่งเป็นลูกเขยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมด้วย โดยเบื้องต้น เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่า ความร่วมมือจากภาคเอกชนอาจทำให้ความหวังของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไอทีลง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 10 ปี สามารถเป็นจริงได้