เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันอย่างมากสำหรับโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ “เฟซบุ๊ก” (Facebook) เมื่อถูกนายกรัฐมนตรีอังกฤษอย่างเทเรซ่า เมย์ ออกมาเรียกร้องหากฎระเบียบในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่รัดกุมขึ้น หลังเกิดเหตุก่อการร้ายติดๆ กันในอังกฤษ
ขณะที่ ไซมอน มิลเนอร์ (Simon Milner) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของเฟซบุ๊ก ออกมากล่าวว่า เฟซบุ๊กเองได้พยายามลบคอนเทนต์ก่อการร้ายออกจากแพลตฟอร์มอย่างหนัก ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็ระบุว่า ได้มีการจ้างพนักงานเพิ่ม 3,000 ตำแหน่งเพื่อดูแลงานนี้โดยเฉพาะด้วย
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลระดับผู้นำอังกฤษสบายใจได้
โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (4 มิ.ย.) นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวว่า อังกฤษต้องการกฎการใช้อินเทอร์เน็ตที่รัดกุมมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ผู้ก่อการร้ายใช้เป็นเครื่องวางแผนโจมตีผู้คน หรือใช้เป็นที่แพร่กระจายแนวคิดของลัทธิ
“เรายอมรับไม่ได้กับแนวคิดที่ว่าจะให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน แต่มันทำให้ต้องเกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ”
ซึ่งคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในยุคแห่งการก่อการร้าย
โดยไซมอน มิลเนอร์ กล่าวว่า “เฟซบุ๊กต้องการให้พื้นที่ของเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งนั่นหมายความว่า เราไม่อนุญาตให้กลุ่ม หรือบุคคลเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของกลุ่มผู้ก่อการร้าย หรือโพสต์เพื่อสนับสนุนการก่อการร้าย เราต้องการบอกว่า เฟซบุ๊กเป็นปรปักษ์กับการกระทำเช่นนั้น”
อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กไม่สามารถรอดพ้นจากคำครหานี้ไปได้พ้น เพราะมีหลายฝ่ายที่กล่าวโทษว่า เป็นเพราะเฟซบุ๊กไม่สามารถจัดการกับคอนเทนต์รุนแรงได้ดีพอ แม้มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก จะจ้างพนักงานเพิ่ม 3,000 ตำแหน่งมาจัดการคอนเทนต์เหล่านี้แล้วก็ตาม
โดยมิลเนอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของแต่ละเมืองมาโดยตลอด และยืนยันว่า จะลบคอนเทนต์ด้านก่อการร้ายออกจากแพลตฟอร์มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ด้านฮานี่ ฟาริด (Hany Farid) ผู้อำนวยการของฝ่ายวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งเมือง Dartmouth กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ On the Media ว่า เขาได้เคยช่วยไมโครซอฟท์ พัฒนาเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “PhotoDNA” เพื่อรับมือกับปัญหาภาพการล่วงละเมิดเด็กบนอินเทอร์เน็ต แต่เฟซบุ๊กปฏิเสธเมื่อเขานำเทคโนโลยีคล้ายๆ กันนี้ไปเสนอในชื่อ “eGLYPH” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายบนโลกออนไลน์
“เรารู้สึกผิดหวังมาก เพราะทุกครั้งที่เราได้เห็นคลิปไม่พึงประสงค์บนเฟซบุ๊ก ยูทูป หรือทวิตเตอร์ เรามักจะได้ฟังคำชี้แจงมาตรฐานจากบริษัทที่พร่ำบอกว่า เรามีการดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด ฯลฯ”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาปฏิเสธเทคโนโลยีที่อาจช่วยให้ธุรกิจของเขารอดพ้นจากการเป็นแหล่งซ่องสุมของเหล่าผู้ก่อการร้ายนี้ไปมากมาย
ด้านเฟซบุ๊ก ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ