xs
xsm
sm
md
lg

“พิเชฐ” ชวนหัวเว่ย ลงทุนดิจิตอลพาร์ค หลังลงทุนโอเพนแล็บไป 500 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“พิเชฐ” ชวนหัวเว่ย ร่วมลงทุน EEC หลังผนึกภาครัฐร่วมทำรายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิตอลของประเทศไทยใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ สังคมสูงอายุ, ภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ด้านหัวเว่ย ลงทุน 500 ล้านบาท เปิดโอเพนแล็บแห่งที่ 7 ในไทย ร่วมพัฒนาบุคลากรดิจิตอลตามยุทธศาสตร์ 5 แสนคนใน 5 ปี



นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี ) กล่าวว่า ในฐานะที่หัวเว่ย ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างดีเสมอมา ดังจะเห็นได้จากการนำเสนอหนังสือรายงานที่เกี่ยวเนื่องกับไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรีในช่วงปีที่ผ่านมา ก็แล้วเสร็จไปได้ด้วยดี

“ถือโอกาสในงานนำเสนอรายงานของหัวเว่ย เชิญให้เข้ามาร่วมลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิตอล (EECd) ที่ทางกระทรวงดีอี วางนโยบายเพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อน รวมถึงวางแผนทั้งในแง่ของการพัฒนาบุคลากร และการนำนวัตกรรมเข้ามาส่งเสริม”

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการสอบถามถึงประเด็นการพัฒนาบุคลากรทางด้านดิจิตอลใน 2 ส่วน คือ 1.การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านคลาวด์ประมาณ 1 หมื่นราย 2.การพัฒนาบุคลากรดิจิตอลในองค์รวมที่เป็นแผนระยะยาว 5 ปี ให้สร้างบุคลลากร 5 แสนราย

“แน่นอนว่าการพัฒนาบุคลากรทางดิจิตอลต้องเกิดจากหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน ทั้งในระดับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา จนไปถึงผู้บริหารดิจิตอลในระดับชุมชนประจำหมู่บ้านที่มีกว่า 7 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ”

รวมถึงการพัฒนาการใช้งานดิจิตอลให้แก่ประชาชนทั่วไป อย่างการใช้งานซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน การใช้งานสมาร์ทโฟนให้เต็มประสิทธิภาพ แม้กระทั่งในเรื่องของการปกป้องตัวเองในสังคมไซเบอร์ ที่ปัจจุบันมีภัยคุกคามหลายรูปแบบมาก

นายเฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของหัวเว่ย และมีพันธสัญญาที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของนวัตกรรม และการลงทุนในด้านอื่นๆ

***เปิดโอเพนแล็บพัฒนาบุคลากรดิจิตอล

ล่าสุดหัวเว่ย ได้มีการลงทุนไปกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 510 ล้านบาท) ในการเปิดศูนย์นวัตกรรม (Huawei Open Lab) เพื่อให้ภาครัฐ หน่วยงาน และภาคเอกชนต่างๆ สามารถเข้าไปใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายเดวิด ซุน ประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดในช่วงบ่ายวันที่ 1 มิ.ย.

“หัวเว่ยจะเน้นการนำองค์ความรู้ในแง่ของเทคโนโลยีที่มีอยู่มาแบ่งปัน เพื่อส่งเสริมให้กับคนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัป Seed for the future ที่จะมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ การตั้งศูนย์โอเพนแล็บในกรุงเทพฯ ถือเป็นแห่งที่ 7 ของหัวเว่ย ต่อจากเมืองซูโจว ประเทศจีน, ประเทศเม็กซิโก, เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี, ประเทศสิงคโปร์, เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้, และประเทศดูไบ โดยมีเนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่อาคารจี ทาวเวอร์ และจะเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในประเทศไทยด้วย



ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนของหัวเว่ยในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของหัวเว่ย ใหญ่กว่าในสิงคโปร์ และจะช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยก้าวกระโดดทางด้านดิจิตอล เอื้อประโยชน์ให้รัฐ และเอกชนเชื่อมโยงกัน

“มาเพื่อขอบคุณหัวเว่ย ที่ให้น้ำใจ และจริงจังในการช่วยเหลือไทย เรื่องที่น่ายินดี คือ ล่าสุด ไอเอ็มดี ประกาศว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 1 ลำดับ จาก 28 ไปเป็น 27 โดยประเมินจากสมรรถณะทางเศรษฐกิจ สมรรถนะรัฐบาล สมรรถนะเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งเป็นประการแรก จากสมรรถนะทางเศรษฐกิจที่เลื่อนขึ้น 3 อันดับ ขณะที่ประเด็นจากเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นมา 4 อันดับ ประเด็นเรื่องการค้าเพิ่มขึ้นมา 3 อันดับ ดังนั้น ที่กล่าวกันว่า ประเทศไทยย่ำแย่ แต่ในข้อเท็จจริงที่ต่างประเทศมองเป็นอีกอย่าง”
เดวิด ชุน ประธานกรรมการบริการและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
นายเดวิด ชุน ประธานกรรมการบริหารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในปัจจุบัน การใช้งานดีไวซ์ของหัวเว่ย กว่า 6 ล้านคน และเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ชั้นนำของสมาร์ทโฟนนอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยชำระภาษีในไทยไปกว่า 33 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) สร้างงานมากกว่า 10,000 ตำแหน่ง และใช้งบจัดจ้างกว่า 660 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในการอบรมนักรบดิจิตอลมากกว่า 35,000 คนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน จากการมีศูนย์โอเพนแล็บ จะช่วยฝึกบุคลากรด้านไอซีที ไม่ต่ำกว่า 800 คนต่อปี โดยตั้งเป้าบุคลากรที่ผ่านประกาศนียบัตรด้านอาชีพอีก 500 คน และรองรับโครงการทดสอบแนวคิดราว 150 คนต่อปี สร้างสตาร์ทอัปไม่ต่ำกว่า 20 ราย นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีแผนการเปิดศูนย์โอเพนแล็บ ในอนาคตอีก 7 แห่งทั่วโลก และอีก 3 ปีจะลงทุนด้วยงบประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มบุคลากรอีก 1,000 คน เพื่อสร้างโอเพนแล็บ ให้ครบ 20 แห่งทั่วโลกในปี 2562

ส่วนเนื้อหาในรายงานเชิงลึกการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิตอลของประเทศไทย (Thailand Digitalization Whitepaper) เป็นการพัฒนาเนื้อหาร่วมกันกับบริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) ในหัวข้อเรื่อง “เจาะลึกเรื่องดิจิทัล ในอุตสาหกรรมไทย : ดิจิทัลโรดแมปเพื่อสังคมสูงอายุ (Aging Society) ภาคการเกษตร (Agriculture) และภาคการท่องเที่ยว (Tourism)” โดยเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีดิจิตอลสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข พร้อมนำโซลูชันมาช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน สามารถหลุดพ้นจากกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

พร้อมกับการให้ข้อเสนอถึงแนวทางที่ประเทศไทยจะสามารถยกระดับเทคโนโลยีดิจิตอลให้เกิดผลดีที่สุดในการรับมือกับประเด็นที่สำคัญต่อประเทศอย่างมาก 3 ประการ คือ 1.การบริหารจัดการสังคม สูงอายุ 2.การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และ 3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอแนวทางการพัฒนากว่า 39 แนวทางครอบคลุมใน 3 ส่วนนี้ รวมถึงอีก 4 ปัจจัยขับเคลื่อน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบรนด์, โครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ นวัตกรรม และทุนมนุษย์






กำลังโหลดความคิดเห็น