xs
xsm
sm
md
lg

จะเห็นอะไรเมื่อ Sanook! เปลี่ยนเป็นเทนเซ็นต์ ประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด
ก้าวต่อไปของสนุก ออนไลน์ เตรียมรับยุคดิจิตอลแพลตฟอร์ม ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ก่อนขยายแพลตฟอร์มการให้บริการสู่รูปแบบอื่นๆ ตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นการสร้างคอนเทนต์ให้ผู้ใช้ได้อ่าน และฟังเป็นหลัก

นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากมีการปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทว่า ด้วยพฤติกรรมของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการอ่านคอนเทนต์บนเว็บไซต์ผ่านพีซี มาใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน จนกลายเป็นการใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้สนุก! ต้องมีการหาผลิตภัณฑ์ใหม่มาให้ลูกค้าได้ใช้งานเพื่อขยายธุรกิจต่อไป

“สมัยก่อนสนุก! จะโฟกัส ไปกับการทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ ด้วยการเป็นเว็บพอร์ทัล ตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็จะไม่ได้หยุดพัฒนาคอนเทนต์ในส่วนนี้ แต่จะขยายแพลตฟอร์มออกไปให้กว้างขึ้น เพื่อให้รับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ปัจจุบันไม่ได้ทำแค่อ่าน และฟังเป็นหลัก แต่จะเพิ่มในแง่ของการดูเข้ามาด้วย”

นอกจากการมีแพลตฟอร์มข่าวสาร ผ่านเว็บไซต์อย่าง สนุก! แพลตฟอร์มความบันเทิงอย่าง Joox และ V Station ที่เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการ และแพลตฟอร์มบริการอย่างท็อปสเปซ ที่เป็นดิจิตอลเอเจนซี ก็ต้องการที่จะสร้างความแน่ใจว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะออกมาต้องครอบคลุมพฤติกรรมผู้บริโภคในโลกออนไลน์ที่ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหน ก็จะมีผลิตภัณฑ์ของเทนเซ็นต์ มารองรับ

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก สนุก ออนไลน์ จำกัด มาเป็น เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เปรียบเสมือนการรีแบรนด์ สนุก! จากภาพเดิมที่เป็นผู้ให้บริการเว็บพอร์ทัล มาเป็นผู้ให้บริการดิจิตอลแพลตฟอร์ม ที่จะครอบคลุมทั้งในแง่ของข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง และบริการ

“จริงๆ เทนเซ็นต์ สามารถเปลี่ยนชื่อได้ตั้งแต่ปี 2010 ที่เข้ามาถือหุ้นหลักของ สนุก! เพียงแต่ในช่วงเวลานั้น ยังไม่มีบริการ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องออกมา จึงคิดว่ายังไม่ถึงเวลา แต่ปัจจุบันเมื่อมีบริการที่หลากหลายมากขึ้น ก็ถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนสีธีมใหม่ เพื่อต่อยอดธุรกิจแพลตฟอร์มในอนาคต”

สำหรับทิศทางที่จะเกิดขึ้นในปี 2017 เทนเซ็นต์ จะแบ่งกลุ่มโฟกัสออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของข้อมูลข่าวสาร และเว็บพอร์ทัล ที่มีบริการหลัก คือ สนุก!ดอทคอม ก็จะเน้นการพัฒนาคอนเทนต์ต่อยอดจากเดิมที่มีเพียงข่าวสาร และบทความ ก็จะเพิ่มในส่วนของวิดีโอเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

“ช่วงปีที่ผ่านมา สนุก! มีการขยายธุรกิจไปยังประเทศลาว ด้วยการเปิดเว็บไซต์ ม่วน! (Muan.la) ที่เป็นบริการเว็บพอร์ทัล ภาษาลาว ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีผู้เข้าใช้งานต่อเดือนราว 2 ล้านราย ซึ่งถือว่าอยู่อันดับต้นๆ ของเว็บไซต์ภาษาลาว ทำให้ในอนาคตก็อาจจะมีการขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ต่อไป”

ขณะเดียวกัน ก็จะมีการออกแอปพลิเคชั่น Noozup มาใช้เป็นแพลตฟอร์มในโลกอนาคต ที่จะเป็นแอปพลิเคชั่นในการอ่านข่าว เจาะกลุ่มคนในเมือง และตามหัวเมืองต่างๆ โดยเน้นเรื่องราวจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ถัดมาในกลุ่มของความบันเทิง ก็จะมีบริการหลัก คือ Joox ที่เป็นบริการฟังเพลงออนไลน์ที่ได้มีการเพิ่มบริการอย่าง V Station ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดู LIVE คอนเทนต์จากศิลปิน รวมถึงสามารถพูดคุยกับศิลปินได้เพิ่มเข้ามา พร้อมกับการคัดสรรเกมจากเทนเซ็นต์ เข้ามาให้บริการในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

สุดท้ายในแง่ของบริการ การที่เทนเซ็นต์ มีบริษัทอย่างท็อปสเปซ ขึ้นมา โดยส่วนหนึ่ง คือ การนำมาไว้ใช้ในการซื้อสื่อ ซื้อโฆษณาภายในบริษัท แต่อีกส่วนที่จะขยาย คือ การเปิดเป็นดิจิตอล เอเจนซี ให้ลูกค้าที่ต้องการช่องทางการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้ WeChat ชาวจีน ทำให้มีโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีนมากยิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยในแง่ของผู้ใช้ชาวจีนที่ต้องการมาทำตลาดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน สนุก!ดอทคอม มีผู้เข้าใช้งานแต่ละเดือนราว 36 ล้านราย คิดเป็น Active User ราว 30 ล้านราย โดยสัดส่วนผู้อ่านหลักจะเป็นผู้หญิง 62% เป็นผู้เข้าชมจากอุปกรณ์พกพา 70% และเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านโซเชียลมีเดียราว 40% ขณะที่ระยะเวลาที่ใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 9 นาที และพบว่า 85.40% กลับมาใช้งานซ้ำ ส่วนช่วงอายุจะมีกลุ่มใหญ่อยู่ 2 ช่วง คือ 25-34 ปี ราว 40% และช่วงอายุ 35-44 ปี ประมาณ 29%
กำลังโหลดความคิดเห็น