xs
xsm
sm
md
lg

“แซส” เดินหน้ารุกตลาดผ่านพาร์ตเนอร์ หวังโต 2 เท่าใน 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด
แซส (SAS) ปรับแผนธุรกิจจับมือพาร์ตเนอร์เพิ่มช่องทางจำหน่ายโซลูชัน พร้อมขยายฐานลูกค้าสู่อุตสาหกรรมพลังงาน โทรคมนาคม และสาธารณูปโภค หวังเติบโต 2 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า หลังฐานลูกค้าธนาคารเริ่มอยู่ตัว ลุยปรับสัดส่วนรายได้ธนาคารจาก 80% เหลือ 50% ในปีหน้า และ 30% ในปี 2019 และบริการในรูปแบบคลาวด์ให้ลูกค้าได้ใช้งาน

นายณัฐพล อภิลักษณ์โตยานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา แซสจะมุ่งเน้นการทำตลาด และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตรงแก่ลูกค้า ทำให้ด้วยจำนวนบุคลากรที่มีไม่สามารถขยายสู่ตลาดได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงต้องมีการเพิ่มทีมงานที่เป็นพาร์ตเนอร์มาช่วยดูแลลูกค้าในส่วนของโซลูชันมากยิ่งขึ้น

“ตอนนี้ ยิปอินซอย ถือเป็นพาร์ตเนอร์รายแรกกับทางแซส ในการเข้าไปช่วยขายโซลูชันการบริหารจัดการข้อมูลแก่กลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ และจะมีอีก 2-3 รายที่กำลังอยู่ในช่วงการพูดคุย ซึ่งเชื่อว่า การขยายพาร์ตเนอร์ทางด้านช่องทางจำหน่ายจะกลายเป็น 1 ในปัจจัยหลักที่ทำให้แซส ในยุค Beyond Banking เติบโตได้”

ในปีหน้า แนวทางของแซส คือ การรุกไปในอุตสาหกรรมพลังงานในส่วนของธุรกิจน้ำมัน และแก๊ส อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และสาธารณูปโภค อย่างไฟฟ้า และพลังงาน ที่ปัจจุบัน องค์กรเหล่านี้ใช้งานเครื่องมือบางส่วนของแซส อยู่แล้วก็จะมีการเข้าไปนำเสนอในรูปแบบโซลูชันให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา แซสจะมีรายได้หลักมาจากลูกค้าธนาคารด้วยสัดส่วนในปัจจุบันอยู่ที่ 80% ทำให้เมื่อมีการขยายออกสู่อุตสาหกรรมอื่น สัดส่วนรายได้จะเริ่มขยับเป็นมาจากธนาคาร 50% และอื่นๆ 50% ในปีหน้า ก่อนที่ใน 3 ปีข้างหน้า หรือใน 2019 จะมีสัดส่วนรายได้จากธนาคารเหลือ 30% โทรคม 30% และอื่นๆ 40%

“เราจะเรียกยุคถัดไปของแซสว่า Beyond Banking เพราะแซส จะเริ่มหันไปหาลูกค้าในอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มเติม เพื่อมาช่วยสร้างรายได้ให้เติบโตได้ 2 เท่าภายใน 3 ปีข้างหน้าตามที่วางไว้ เพราะถือว่าปัจจุบัน โซลูชันเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลกำลังมีความจำเป็นสำหรับองค์กรธุรกิจ”

นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเริ่มยุคคลาวด์ของแซส ประเดิมด้วยในช่วงต้นปีหน้า แซสจะมีการนำ CI 360 ที่เป็นคลาวด์โซลูชัน ที่คิดตามปริมาณใช้งานจริง แทนที่จากเดิมจะคิดการใช้งานเป็นไลเซนต์ในแต่ละปี ร่วมกับการเปิด Open Platform ของ SAS VIYA ให้นักพัฒนาสามารถนำซอร์สโค้ดของทางแซส ไปใช้งานได้เพิ่มเติม

สำหรับโอกาสทางธุรกิจที่แซส มองเห็น และมีโอกาสเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คือ การมาของนโยบาย Thailand 4.0 ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และ IoT ที่แซส มีการคิดค้น Analytic of Things (AoT) ขึ้นมา เพื่อให้สามารถนำข้อมูลของ IoT มาวิเคราะห์ได้

“ช่วงที่ผ่านมา องค์กรหลายๆ แห่งจะเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูล เมื่อทุกที่มีการจัดเก็บข้อมูลพร้อมแล้ว ก็จะเข้าสู่ยุคที่ 2 ของ Big Data ก็คือ การนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แซส มีความเชี่ยวชาญอยู่”
กำลังโหลดความคิดเห็น