xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกลยุทธ์ “เบน คิง” หัวเรือใหม่กูเกิลไทย เน้นเพิ่มผู้ใช้ พร้อมผลักดันธุรกิจเข้าออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิด 4 กลยุทธ์หลักลุยตลาด กูเกิล ประเทศไทย ในยุค “เบน คิง” หวังเพิ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาคอนเทนต์ท้องถิ่น รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้พัฒนาการศึกษา และผลักดันธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์ 1 ล้านราย ใน 2-3 ปีข้างหน้า

นายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายหลักหลังจากเข้ามารับตำแหน่งว่า ต้องการเพิ่มปริมาณการเข้าถึงโลกออนไลน์ของชาวไทยให้กระจายสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น จากที่ปัจจุบันการเข้าถึงโลกออนไลน์ส่วนใหญ่จะอยู่ในตัวเมืองเป็นหลัก และเรื่องดังกล่าวถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากในแง่ของการสร้างคอนเทนต์แล้ว ยังต้องมีอีกหลายๆ ด้านที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งาน

“จากประสบการณ์ทำงานในตลาดกำลังพัฒนาอย่างบังกลาเทศ อินโดนีเซีย และศรีลังกา ทำให้เชื่อว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตถือเป็นเป้าหมายหลักสำคัญที่ต้องการให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นภารกิจสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกภายใต้ 4 แนวทางหลักที่วางไว้”

สำหรับ 4 กลยุทธ์หลักที่วางแผนไว้ให้แก่กูเกิล ประเทศไทย จะครอบคลุมทั้งในแง่ของผู้ใช้งาน คู่ค้า พาร์ตเนอร์ ภาคการศึกษา รวมถึงองค์กรธุรกิจทั้งหลายที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ที่สำคัญ คือ เรื่องของการพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ โดยเริ่มต้นที่ 1.การทำให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด

“ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกกว่า 300 ล้านคน ถือเป็นปริมาณที่น่าสนใจ และที่น่าสนใจกว่านั้น คือ กลุ่มคนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะมีบุคลิกที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นคนรุ่นใหม่ โดยการเชื่อมต่อส่วนใหญ่จะมาจากอุปกรณ์พกพาเป็นหลัก”

อย่างในประเทศไทย มีการใช้งานยูทิวบ์เป็น 1 ใน 10 ของโลก รวมถึงการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการเข้าถึงยูทิวบ์เป็น 1 ใน 10 เมืองเช่นเดียวกัน ในปี 2015 ทำให้กูเกิลค่อนข้างให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้ให้ดีที่สุด อย่างการออกบริการอย่างยูทิวบ์ ออฟไลน์ (Youtube Offline) ให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดวิดีโอผ่านการเชื่อมต่อไวไฟไว้ดูย้อนหลัง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

2.การพัฒนาคอนเทนต์ในแต่ละท้องถิ่น เพราะมองว่า การที่มีคอนเทนต์ และบริการให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่นจะเข้ามาช่วยเพิ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างในประเทศไทย กูเกิลมีบริการเข้ามาให้ชาวไทยได้ใช้งานกัน 55 บริการ และมีถึง 45 บริการ ที่พัฒนาให้รองรับภาษาไทยแล้ว

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการร่วมกับผู้ผลิตคอนเทนต์ทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ภายใต้โปรแกรมอย่าง Youtube Partner Program ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการผลิตคอนเทนต์ขึ้นมาอยู่บนยูทิวบ์ และสร้างการรับชมคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ในการออกแพกเกจเฉพาะสำหรับดูยูทิวบ์

3.การนำผลิตภัณฑ์ของกูเกิลไปใช้ในการสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านระบบดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้แก่พาร์ตเนอร์ในการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงมีความเข้าใจในเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยวางเป้าหมายไว้ว่าจะให้มีนักศึกษากว่า 1 แสนคน เข้าถึงบริการทางด้านการศึกษาต่างๆ ของกูเกิล

สุดท้าย 4.การดึงธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าสู่โลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ภาครัฐในแง่ของการสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอล เพราะปัจจุบัน ธุรกิจเอสเอ็มอีสร้างรายได้ให้แก่ประเทศในสัดส่วนสูงถึง 40% และในจำนวนเอสเอ็มอีที่เข้าสู่ธุรกิจออนไลน์จะมีโอกาสสร้างยอดขายได้มากกว่าธุรกิจที่ยังไม่เข้าสู่อินเทอร์เน็ตถึง 80%

ประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 21 ประเทศที่มีสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนสูงกว่าพีซีมากที่สุดถึง 37% จากรายงานของคอนซูเมอร์ บารอมิเตอร์ ในปี 2015 ทำให้เห็นแนวโน้มของธุรกิจออนไลน์ในไทยว่า กำลังเข้าสู่ยุคของโมบายเฟิร์ส นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกค้าที่ซื้อของผ่านระบบออนไลน์สูงถึง 31% ขณะที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีสัดส่วนอยู่ที่ 10% และ 7% ตามลำดับ

“ปัจจุบัน ไทยมีธุรกิจที่เข้าสู่ธุรกิจออนไลน์แล้วราว 2.5-3 แสนราย ซึ่งทางกูเกิลวางเป้าหมายว่าจะให้เพิ่มเป็น 1 ล้านราย ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า”

ขณะเดียวกัน อีกจุดหนึ่งที่กูเกิลให้ความสำคัญ คือ เรื่องของ “ช่วงเวลาที่ตัดสินใจซื้อ” (Micro Moment) ที่ช่วยสร้างให้เกิดพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค โดยพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ทโฟน พบว่า 40% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนใช้เพื่อค้นหาวิดีโอคอนเทนต์บนโลกออนไลน์เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ 69% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนใช้ค้นหาข้อมูลเพื่อซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ และ 29% ใช้สมาร์ทโฟนในการค้นหาธุรกิจในท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม กูเกิลแนะนำว่า การที่ธุรกิจออนไลน์จะสามารถจับช่วงเวลาในการตัดสินใจซื้อได้นั้น ธุรกิจต้องมีการใช้เครื่องมือในการบ่งชี้ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ถัดมา คือ ต้องทำให้ธุรกิจสามารถค้นพบความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาประเมินว่า ช่องทาง อุปกรณ์ และคอนเทนต์แบบใดที่โดนใจผู้บริโภคมากที่สุด หลังจากนั้น คือ การทำให้คอนเทนต์ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค และคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นมาต้องใช้งานร่วมได้กับทุกอุปกรณ์

สุดท้ายในแง่ของความร่วมมือกับทางรัฐบาล นายเบน คิง ให้ความเห็นว่า กูเกิลถือเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในแง่ของการปกป้องข้อมูลส่วนตัวอยู่แล้ว และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทั่วโลกตามกฎหมายที่กำหนดในแต่ละประเทศ ส่วนในแง่ของแผนการลงทุน หรือการตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย ยังไม่มีแผนการดำเนินงาน แต่ยืนยันถึงการลงทุนใน 4 กลยุทธ์หลัก

ทั้งนี้ นายเบน คิง เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย ในวันที่ 4 มกราคม 2559 โดยก่อนที่จะมารับตำแหน่ง เบน คิงเคยร่วมงานกับฝ่ายธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินโดนีเซีย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

Company Relate Link :
Google
กำลังโหลดความคิดเห็น