โพลชี้ยุค 4 จี ทำเงินสะพัด 3 แสนล้านบาท ดันจีดีพีปี 59 โตอีก 0.5-1% เหตุมีการลงทุนติดตั้งระบบ คนนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ และผู้ประกอบการจะแข่งขันในด้านการจำหน่ายมากขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ “เศรษฐกิจดิจิตอล : ทางรอดเศรษฐกิจประเทศไทย” ว่า ในปี 2559 คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากโครงการ 4 จี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ระบบ 4 จีประมาณ 1-2 แสนล้านบาท และเงินสะพัดจากการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์อีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.5-1% และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยภาพรวมในปี 2559 ขยายตัว 3-3.5%
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนระบบ 4 จี จะทำให้เอกชนให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับการซื้อขายออนไลน์ในวงเงินที่สูงขึ้นและหลากหลายมากขึ้น เช่น การจองตั๋วออนไลน์ (หนัง, เครื่องบิน) เฉลี่ยเงินที่ซื้อ 2,759 บาทต่อราย, การซื้อมือถือ 2,147 บาท, เครื่องใช้ไฟฟ้า 1,915 บาท, ชำระค่าสินค้า/บริการรายเดือนต่างๆ 1,739 บาท, ซื้อเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ 1,443 บาท, ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม 917 บาท, ซื้อหนัง/ซื้อเพลง 348 บาท และซื้อเกมส์ออนไลน์ 364 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ อานิสงส์ของ 4 จี ยังทำให้ผู้ค้าให้ความสำคัญในการแข่งขันจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยปัจจุบันการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการเฉลี่ยต่อครั้งอยู่ที่ 2,857 บาท และจากการสอบถามประชาชนพบว่า กลุ่มที่จะมีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นจากเดิม จะเพิ่มเงินในการซื้ออีก 1,246 บาท เพราะเห็นว่าราคาถูกกว่าร้านค้า, บริการส่งถึงที่, สะดวกรวดเร็ว, ไม่มีเวลาออกไปซื้อของ, สินค้าได้ตรงตามความต้องการ ส่วนกลุ่มที่ซื้อของลดลงเพราะมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี, ถูกโกง, สินค้าไม่เหมือนในรูปโฆษณา, ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าได้ เป็นต้น
ส่วนสิ่งที่ภาคเอกชนและประชาชนต้องบการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต คือ การครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ให้ทั่วถึง, ป้องกันการหลอกลวงในการขายสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต, การคิดค่าบริการให้ถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน, เพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล, ต้องการไวไฟฟรี, ดูแลเรื่องการโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์ และควรเข้ามาควบคุมภาษาที่ใช้ไม่ให้มีความรุนแรงจนเกินไป