เอ็นฟอร์ซ เผยปีที่ผ่านมาเติบโตแค่ 6% เพราะภาครัฐชะงักแต่เอกชนยังลงทุน ส่วนปีนี้รุกตลาดใหม่หวังสร้างโอกาสทางการขายและรายได้เพิ่ม ช่วยให้เติบโตถึง 25% เสริมตลาดซีเคียวริตี้ที่ยังคงเติบโตแบบคงที่ พร้อมส่งผลิตภัณฑ์ใหม่เจาะตลาดดาต้าเซ็นเตอร์และแอปพลิเคชันที่มีแนวโน้มมาแรง และทำให้การเป็นเซอร์วิสดิสทริบิวเตอร์มีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
นายนักรบ เนียมนามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด กล่าวว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา เอ็นฟอร์ซประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมีรายได้รวมประมาณ 385 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 6% ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตไม่มากนัก เพราะตลาดภาครัฐยังชะลอตัว ซึ่งการเติบโตนั้นส่วนหนึ่งมาจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตรงความต้องการของลูกค้า และการทำตลาดกับภาคเอกชนที่ยังคงมีการลงทุนอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์
สำหรับกลยุทธ์การตลาดในปีนี้จะเน้นการเข้าสู่ตลาดใหม่ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางด้านเครือข่าย ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์เร่งความเร็วระบบเวอร์ชวล โดยใช้แฟลชการ์ดเมมโมรีเพื่อใส่ในเซิร์ฟเวอร์เป็นแฟลชสตอเรจ และแอปพลิเคชันเพอร์ฟอร์แมนซ์มอนิเตอร์ริง ซึ่งจะเจาะในองค์กรที่ใช้ ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ และแอปพลิเคชัน โดยได้ตั้งเป้าการเติบโตภาพรวมในปีนี้ไว้ที่ 25%
“ปัจจุบันในตลาดซีเคียวริตี้นั้น เอ็นฟอร์ซมีอัตราการเติบโตอยู่แล้ว 10-15% ซึ่งการนำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาจะถือเป็นการช่วยเสริมธุรกิจ และช่วยให้การเป็นเซอร์วิสดิสทริบิวเตอร์มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างหลากหลายมากขึ้น”
นายนักรบ กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์เร่งความเร็วระบบเวอร์ชวล ได้จับมือกับ MEMBLACE ซึ่งเป็นบริษัทแฟลชสตอเรจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยได้รับการเซ็นสัญญาให้เป็นผู้ทำตลาดทั่วทั้งอาเซียน ส่วนแอปพลิเคชันเพอร์ฟอร์แมนซ์มอนิเตอร์ริงนั้น เอ็นฟอร์ซมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก จึงให้ความสนใจและนำเข้ามานำเสนอในตลาดไทยก่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความปลอดภัยให้กับแอปพลิเคชันต่างๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ภาครัฐ และสถาบันการเงิน
สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีไอทีซีเคียวริตี้ที่มาแรงในปีนี้ประกอบไปด้วย 1.คลาวด์ ซีเคียวริตี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้งานโมบายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปกป้องบนคลาวด์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบหามัลแวร์ การกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล อาทิ การแชร์ไฟล์ และการสำเนาข้อมูล ที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะให้พนักงานในระดับใดสามารถทำได้บ้าง
2.แอปพลิเคชันและโมบายแอปพลิเคชันซีเคียวริตี้ เพื่อเป็นการป้องกันการโจมตีที่จะเข้ามาทางแอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ รวมไปถึงการโหลดแอปพลิเคชันต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายของไฟล์ 3.แซนด์บ็อกซิง (Sandboxing) หรือการจำลองแอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่บนหลายแพลตฟอร์ม โดยสามารถนำแอปพลิเคชันนั้นมาจำลองการทดสอบว่าแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดมานั้นจะมีผลกระทบอะไร อย่างไรบ้าง
4.การจัดการสิทธิ์ดิจิตอล หรือ DRM: Digital Right Management ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิการเข้าถึงไฟล์ โดยการนำมาใช้ในคลาวด์ส่วนบุคคลนั้นนอกจากจะเป็นการเพิ่มรหัสแล้ว ยังเป็นการรักษาข้อมูลในไฟล์ ซึ่งจะสามารถยกเลิกสิทธิการเข้าถึงข้อมูลทำให้ผู้ไม่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเข้าถึงไฟล์เหล่านั้นได้ และ 5.ไอที ซีเคียวริตี้ เอาท์ซอร์สซิ่ง หรือแมเนจ ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ (IT Security Outsourcing หรือ MSSP: Managed Security Services provider) จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่หลายองค์กรจะหันมาใช้เอท์ซอร์สซิงมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการใช้ระบบสารสนเทศจากหน่วยงานภายนอก ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน
Company Related Link :
Nforce