xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เตรียมชงแนวทางกำกับดูแลบริการ P2P คาดเปิดบังคับใช้ปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.คาดเสนอแนวทางกำกับดูแลบริการกู้ยืมระหว่างบุคคล หนือ P2P ให้คลังพิจารณาได้ภายในปีนี้ ก่อนบังคับใช้ปี 60 ยอมรับ ธปท.ยังมีความกังวลในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และการคัดกรองลูกค้าว่า จะมีข้อมูลครอบคลุมที่เพียงพอเพียงใด

นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปิดการรับฟังความคิดเห็นแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการปล่อยกู้ระหว่างบุคคล (P2P) จากทุกฝ่ายไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยหลังจากนี้คาดว่าจะจัดทำแนวทางการกำกับ และนำเสนอต่อกระทรวงการคลังได้ภายในปีนี้ ซึ่งหากกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติก็เชื่อว่า จะสามารถนำมาบังคับใช้ได้ในปี 2560

“คาดว่าปีหน้าจะสามารถนำกฎเกณฑ์ที่วางไว้มาใช้ดูแล P2P ได้ในปีหน้า แต่การให้บริการ P2P นั้น ยังมีความกังวลอยู่บ้างในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และการคัดกรองลูกค้าว่า จะมีข้อมูลครอบคลุมที่เพียงพอเพียงใด เช่น ผู้ที่จะให้กู้นำเงินจากไหนมาปล่อยกู้ หรือผู้ที่กู้ไปแล้วจะวัดความสามารถในการชำระคืนได้มากน้อยเพียงใด เป็นต้น”

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งในส่วนของสถาบันการเงิน และที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้แสดงความสนใจสอบถามเรื่องการจะเข้ามาทดลองบริการ Regulatory Sandbox ค่อนข้างมาก โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจจะเข้ามาให้บริการปล่อยกู้ระหว่างบุคคล (P2P) แล้วประมาณ 20 ราย ซึ่งการทดลองบริการ Regulatory Sandbox จะเป็นการใช้พื้นที่ในการทดสอบนวัตกรรม หรือการให้บริการทางการเงินที่นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ โดยมีเกณฑ์การกำกับดูแลที่ไม่เป็นอุปสรรค

สำหรับการกำกับดูแล P2P ของ ธปท.จะพยายามไม่ไปจำกัดการให้บริการของทั้งผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการมากนัก เนื่องจากต้องการให้เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ และลดอุปสรรคด้านการกำกับ เพื่อช่วยส่งเสริมการแข่งขันในตลาด และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ตลอดจนให้ FinTech เป็นผู้เล่น หรือให้บริการได้รวดเร็วขึ้น เพียงแต่ก่อนการให้บริการจริงก็ควรนำมาทดลองให้บริการที่จำกัดผู้ใช้บริการใน Regulatory Sandbox ก่อน เพื่อดูข้อดีข้อเสีย ตลอดจนความเสี่ยงต่างๆ ก่อนจะเปิดให้บริการได้ทั่วไป โดย ธปท.จะเน้นดูแลเรื่องการให้ผู้บริโภคเข้าใจ และมีทางเลือกมากขึ้น

นางวิเรขา กล่าวว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 ประเทศในโลก และ 1 เขตปกครองพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย แคนนาดา รวมทั้งไทย ที่มีบริการ Regulatory Sandbox ซึ่งถือว่ามีการขยายตัวที่รวดเร็วมากจากที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ซึ่งการมีพื้นทดลองให้ผู้ให้บริการทางเงินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้จะช่วยเป็นพลังขับเคลื่อน และเข้ามาเติมเต็มการให้บริการทางการเงินสอดคล้องกับการส่งเสริมดิจิตอลของระบบการเงินไทยตามแผนพัฒนาระบบการเงินระยะที่ 3 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น