xs
xsm
sm
md
lg

แค่เล่น "LINE COOKIE RUN" ทำไมเสียเงินเป็นแสน?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"คุ้กกี้รัน" หรือ LINE COOKIE RUN นั้นเป็นเกมที่ชาวไทยให้ความนิยมเล่นทั่วบ้านทั่วเมือง ปรากฏว่าเกิดกรณีชาวสวนสุพรรณบุรีรายหนึ่งร้องเรียนว่าได้รับบิลเรียกเก็บค่าโทรศัพท์มือถือจาก Ais เป็นจำนวนเงินสูงถึงกว่า 2 แสนบาท เพื่อตอบข้อข้องใจชาวไทยหลายคนที่งุนงงกับเหตุที่เกิดขึ้น ต่อไปนี้คือ 4 คำถามที่จะทำให้ทุกคนที่ไม่เชี่ยวชาญโซเชียลได้เข้าใจว่า ทำไมแค่เล่น "LINE COOKIE RUN" จึงมีโอกาสเสียเงินหลักแสน?

1. LINE COOKIE RUN เรียกเก็บเงินหลักแสนได้อย่างไร?

ก่อนอื่นทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า LINE COOKIE RUN เป็นแอปพลิเคชันเกมที่ให้ทุกคนได้ดาวน์โหลด แต่การเล่นในระดับเชี่ยวชาญจะต้องใช้เงินจริงเพื่อซื้อไอเอ็มหรือปรับเพิ่มความสามารถให้เกมมีความสนุกสนานมากขึ้น

ที่ผ่านมา ชาว COOKIE RUN สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อไอเท็มได้ผ่านวิธีผูกบัตรเครดิต แต่หากไม่สะดวกใช้ข้อมูลบัตรเครดิต ก็สามารถผูกเบอร์โทรศัพท์เข้าบัญชีเพลย์สโตร์ (ร้านซื้อแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์) ผู้ใช้บริการแบบหลัง จะสามารถรอรับบิลค่าบริการรายเดือนจากโอเปอเรเตอร์ไทย ที่ปัจจุบันจะมีทางเอไอเอสที่เปิดให้บริการ และดีแทคที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคต

จุดนี้ผู้ใช้เอไอเอสจะสามารถเลือกรับวิธีจ่ายค่าบริการได้ 2 รูปแบบ นั่นคือพรีเพดหรือระบบเติมเงิน และโพสต์เพดหรือระบบจ่ายหลังรับบริการ จุดนี้ หากผู้เล่นใช้รูปแบบพรีเพด เช่น จ่ายก่อนเดือนละ 300-500 บาท ระบบจะตัดจำนวนเงินทันทีหลังจากตกลงซื้อไอเท็ม ปัญหาซื้อไอเท็มในราคาสูงเกินงบประมาณก็จะไม่เกิด

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครองจากสุพรรณบุรีรายนี้ เป็นการใช้บริการโพสต์เพด ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ใช้จะใช้บริการก่อนจึงจ่ายเงินทีหลัง เมื่อเกิดการซื้อไอเท็มปริมาณมหาศาล บิลเก็บเงินค่าบริการ 2 แสนบาทจึงมีเกิดขึ้นในรอบเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

2 เป็นเฉพาะ LINE COOKIE RUN?

การผูกเบอร์โทรศัพท์เข้าบัญชีเพลย์สโตร์นั้นสามารถใช้งานกับทุกแอปพลิเคชัน เรียกว่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการบนแอป ลักษณะที่เหมือนการผูกบัญชีทั่วไป ทำให้ปัญหานี้มีความเสี่ยงได้กับทุกแอปพลิเคชัน ไม่ใช่เพียง LINE COOKIE RUN

3 โอเปอเรเตอร์ผิดพลาดหรือเปล่า?

โอเปอเรเตอร์นั้นมักใช้คำว่าต้องการอำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้ใช้งาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคทุกคนต้องระวังคือการเลือกรูปแบบบริการที่เหมาะสมกับตัวเอง ดังนั้น ผู้ปกครองทุกคนควรศึกษารูปแบบบริการให้ดี และควรใช้บริการพรีเพดซึ่งมีความปลอดภัยในการควบคุมงบประมาณมากกว่า

ขณะที่ผู้ใช้บริการโพสต์เพด แม้จะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะใช้บริการก่อนจึงค่อยจ่ายค่าบริการ ผู้ปกครองจะต้องปลูกฝังให้บุตรหลานใช้วุฒิภาวะในการพิจารณาก่อนใช้บริการใดๆ

4 กรณีนี้ใครรับผิดชอบ?

แม้จะเป็นบิลที่ออกโดยโอเปอเรเตอร์ แต่รายได้ที่เกิดขึ้นถูกส่งต่อให้บริษัท Line และบริษัทที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดังนั้น การยอมความหรือการยกเลิกค่าบริการเพราะการรู้เท่าไม่ถึงการนั้นจะต้องรอผลเจรจาของทุกฝ่าย

ล่าสุด เอไอเอสออกแถลงการณ์ยกเว้นค่าใช้จ่ายผ่านแอปแก่ลูกค้าทุกรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้ว และพร้อมจะพัฒนาระบบแจ้งเตือนรวมถึงเพิ่มเติมการกำหนดยอดการใช้งานสูงสุดในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ด้วยตนเอง (Credit Limit) เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในมุมคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือ กสทช. ซึ่งล่าสุดมีการออกแถลงการณ์พร้อมดำเนินการหารือกับทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหานี้แล้ว ตามข้อความด้านล่าง

"สำนักงาน กสทช. สั่งการโอเปอเรเตอร์ให้กำหนดวงเงินในการใช้งานเบื้องต้นก่อนและเชิญหารือช่วงบ่ายวันนี้ (23 มิ.ย. 57) พร้อมเสนอ กทค. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแล และเร่งประสานผู้เสียหายเพื่อมาให้ข้อมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ตามที่มีข่าวผ่านสื่อมวลชนกรณีแม่ช็อกลูกชายซื้อเพชรคุกกี้รัน เจอบิลค่าโทรศัพท์มือถือ 2 แสนบาท นั้น วันนี้ (23 มิถุนายน 2557) สำนักงาน กสทช. ได้สั่งการไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายให้รีบกำหนดวงเงินในการใช้บริการเบื้องต้นก่อน เพื่อไม่ให้ความเสียหายในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ขึ้นอีก และเวลาประมาณ 14.00 น. ได้เชิญผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายมาหารือในข้อเท็จจริง และแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องกรณีนี้เกิดขึ้นอีก พร้อมกันนั้น สำนักงานฯ จะรีบทำหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมพิจารณาโดยเร็ว นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะได้ประสานงานเชิญผู้เสียหายมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการดำเนินการช่วยเหลือ

“ในขณะนี้ เกมออนไลน์ที่เล่นผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่กำลังได้รับความนิยม ในเกมจะมีการให้บริการซื้อขายไอเท็มต่างๆที่ใช้ในเกม มีการขายเพชรเพื่อนำไปใช้สร้างสิ่งก่อสร้างในเกม ใช้ซื้อไอเท็มต่างๆ ในเกม ซึ่งบางครั้งเด็ก และเยาวชนที่เล่นเกมพวกนี้อาจไม่เข้าใจว่ามันมีค่าใช้จ่าย จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครอง ช่วยกันดูแล กวดขัน ลูกหลาน ให้ระมัดระวังในการเล่นเกม หรือระมัดระวังในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบิลช็อกเช่นเดียวกับข่าวที่ปรากฏ”

ผู้ปกครองทุกคน ทราบแล้วเปลี่ยน!
ภาพจากเว็บไซต์ Posttoday.com
กำลังโหลดความคิดเห็น