xs
xsm
sm
md
lg

Cyber News : แอสตัน มาร์ติน อวดมาตรฐานการดีไซน์ใหม่ด้วย Autodesk Alias

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แอสตัน มาร์ติน สร้างมาตรฐานใหม่ของการออกแบบพื้นผิวภายนอกของตัวรถ ด้วยโปรแกรม Autodesk Alias หนึ่งในชุดโปรแกรมสำหรับรถยนต์ตัวแรกทุกกระบวนการผลิต ภายใต้แนวคิดหยินและหยางเพื่อสร้างสรรค์รถสปอร์ตสุดหรู สะท้อนการออกแบบทางกายภาพสู่ดิจิตอลดีไซน์ตามวลี “จากศิลป์...สู่ชิ้นส่วน...ด้วยความสมจริง” พร้อมไขเคล็ดลับความกลมกลืนของการออกแบบที่ออโตเดสก์และแอสตัน มาร์ตินได้ค้นพบผ่านกิจกรรม

“จากศิลป์...สู่ชิ้นส่วน...ด้วยความสมจริง” วลีดังกล่าวได้อธิบายถึงขั้นตอนการออกแบบไว้อย่างสมบูรณ์ จากไอเดียในสมองของดีไซเนอร์ได้กลายมาเป็นภาพจำลองที่สมจริงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ และด้วยข้อมูลการออกแบบเดียวกันนี้ได้ใช้เป็นแม่แบบคร่าวๆ ซึ่งส่งต่อไปยังเครื่องปริ้น 3มิติและผลิตออกมาเป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่อย่างฝากระโปรงรถก็สามารถผลิตออกมาได้

โดยในกระบวนแรกของการออกแบบจะร่างแบบเป็นไฟล์ดิจิตอลลงแท็บเล็ตวาคอมลงในโปรแกรม Autodesk Alias ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้องทางดิจิตอลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบทางกายภาพโดยดูจากแม่แบบที่พิมพ์ออกมา ซึ่งทั้งทีมจะต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบการออกแบบทั้งหมด เพราะฉะนั้นหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นจะสามารถพบเห็นได้ทันที โดยขั้นตอนการตรวจสอบเช่นนี้จะช่วยป้องกันค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีข้อผิดพลาดจากการผลิต

กิจกรรมที่จัดขึ้นได้เปิดโอกาสให้เข้าชมดีไซน์สตูดิโอของแอสตัน มาร์ติน ที่โดยปรกติจะไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้า โดยผู้เข้าชมครั้งนี้ได้มีโอกาสเห็นทีมงานออกแบบและแกะสลักดินเหนียว รวมไปถึงการใช้เลเซอร์สแกนเพื่อทำเป็นโมเดล 3 มิติ และสาธิตการออกแบบล้อ ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนขั้นตอนนี้จะต้องแกะสลักด้วยมือและใช้เวลานานถึง 6 เดือนกว่าจะได้ล้อที่ตรงตามมาตรฐานและสามารถส่งไปให้ทีมวิศวกรทำงานต่อไปได้ แต่ปัจจุบันดีไซน์เนอร์เพียงแค่วาดรูปล้อส่วนหนึ่งลงบนแท็บเล็ตวาคอม จากนั้น Autodesk Alias จะทำการจำลองวงรอบของล้อที่เหลือจนเต็ม และข้อมูลในส่วนนี้จะสามารถนำไปทำเป็นภาพเสมือนจริง อีกทั้งยังสามารถนำภาพไปแชร์กับเพื่อร่วมทีมคนอื่นๆ และยังสามารถส่งตรงไปยังเครื่องปริ้นสี 3 มิติเพื่อทำเป็นแม่แบบตัวอย่างได้อีกด้วย นั่นหมายความว่าทีมออกแบบได้แปลงจากงานศิลป์ในวันหนึ่ง ไปสู่ชิ้นงานได้ในวันถัดไป

***SAP Forum เผยความลับการผสมผสานเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ

SAP Forum Thailand งานแสดงนวัตกรรมเอสเอพีจากทุกมุมโลกเพื่อทุกองค์กรธุรกิจในไทย ชูแนวคิดการบรรจบกันระหว่างเทคโนโลยีโมบาย, โซเชียล, บิ๊กดาตา, และคลาวด์ เพื่อความสำเร็จในโลกธุรกิจแบบเรียลไทม์ เผยเคล็ดลับผสมผสานการใช้งานของธุรกิจหลักและการวิเคราะห์จากเอสเอพีด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้องค์กรกำหนดประสบการณ์ของลูกค้า เสริมสร้างศักยภาพให้พนักงานและพาร์ตเนอร์ดำเนินงานได้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้

SAP Forum งานใหญ่ประจำปีของเอสเอพีที่รวมองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านไอทีที่จัดขึ้นในแต่ละประเทศทั่วโลกกว่า 70 เมือง ใน 49 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น, ยุโรป, ตะวันออกกลางและแอฟริกา, ละตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยเอสเอพีจะจัดโรดโชว์ทั่วโลกเพื่อเข้าถึงกว่า 45,000 ลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ SAP Forum จัดขึ้นใน 7 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, เวียดนามและฟิลิปปินส์

นายฟรองซัว เลนคอน ประธานและกรรมการผู้จัดการประจำเอสเอพี ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การบรรจบกันของคลาวด์, โมบาย, โซเชียลเน็ตเวิร์กและบิ๊กดาตา ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอนาคต ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของลูกค้าและเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและปลดล็อกอำนาจของเครือข่ายธุรกิจ โดยโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมจากเอสเอพีสามารถประยุกต์ใช้ใน 25 อุตสาหกรรมชั้นนำด้วยแพลตฟอร์มธุรกิจเรียลไทม์จาก SAP HANA ®

“องค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถนำนวัตกรรมล่าสุดของโมบาย, คลาวด์, ดาตาเบสและเทคโนโลยี, การวิเคราะห์และแอปพลิเคชัน เพื่อการทำงานอย่างชาญฉลาด รวดเร็ว และง่ายขึ้น” นายฟรองซัว กล่าว

ทั้งนี้เอสเอพีมีเป้าหมายที่จะช่วยให้องค์กรได้ตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานที่รวดเร็วที่ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กร พร้อมทั้งเพลิดเพลินไปกับการทำงานในรูปแบบที่ยืดหยุ่นแต่ยังคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือด้วยการนำความสะดวกสบายของคลาวด์มาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมชั้นนำอย่าง SAP HANA สู่การทำงานในรูปแบบที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ

นายชยาม ประเสต บัดเดปุดิ รองประธานฝ่ายแอปพลิเคชัน เอสเอพีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าปัจจุบันนวัตกรรมมีความสำคัญต่อการเติบโตและความแข็งแกร่งต่อการแข่งขันมากกว่าในอดีต โดยเอสเอพีได้ส่งมอบนวัตกรรมชั้นนำสู่ลูกค้า พนักงาน แหล่งทรัพยากรและเครือข่ายของธุรกิจ พร้อมทั้งช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคตได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบ “ที่เอสเอพี ภารกิจของเราคือการรวบรวมนวัตกรรมที่ดีที่สุดเข้าด้วยกันเพื่อช่วยเหลือทุกองค์กรธุรกิจในไทยได้เติบโตตรงตามวาระที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายชยาม กล่าว

***เอชพี อวดเทคโนโลยีเบื้องหลัง “เทอร์โบ…หอยทากจอมซิ่งสายฟ้า”

เอชพี เผยว่า ดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น (Nasdaq: DWA) ใช้เทคโนโลยีของเอชพีในการพัฒนาภาพยนตร์แอนิเมชันเทคนิคสุดล้ำในผลงานเรื่องใหม่ล่าสุด “เทอร์โบ...หอยทากจอมซิ่งสายฟ้า” ที่เข้าฉายทุกโรงภาพยนตร์แล้ววันนี้

เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานแบบผนวก (HP Converged Infrastructure) เป็นเทคโนโลยีหลักที่มีอยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ของเอชพี ตั้งแต่ เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เน็ตเวิร์ก ตลอดจนบริการต่างๆ และซอฟต์แวร์บริหารจัดการ อาทิ HP Converged Cloud รวมถึงผลิตภัณฑ์เวิร์คสเตชัน และเครื่องพิมพ์ ที่ช่วยให้ ดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น สามารถประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาล สร้างสรรค์มิติใหม่ทางด้านภาพ และเทคนิคในการทำภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค (CG) รูปแบบใหม่

มร. ดีเรค ชาน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการเทคโนโลยีทั่วโลก ของดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น กล่าวว่า “ความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น และเอชพี ตอกย้ำความมั่นใจว่าเรามีระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง มีความพร้อมในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความสามารถในการบริหารจัดการที่รวดเร็ว ซึ่งมีความสำคัญในการถ่ายทอดภาพในจินตนาการให้ออกมาสมจริงที่สุดในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง “เทอร์โบ” เจ้าหอยทากที่มีความฝันอยากจะเป็นนักแข่งที่เร็วที่สุดในโลก ทั้งนี้ ด้วยพอร์ทโฟลิโอผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐานแบบผนวกที่ล้ำสมัยของเอชพี ช่วยให้จิตรกรและวิศวกรของเราสามารถออกแบบภาพที่มีคุณภาพสูงสุดให้เป็นจริงได้”

การผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “เทอร์โบ” จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรนเดอร์ภาพนานถึง 75 ล้านชั่วโมงเพื่อให้ได้ภาพที่มีความสมจริงสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นภาพของรถแข่งในสนาม Indy 500 ทั้ง 32 คัน และภาพตัวประกอบต่างๆ ในเรื่องอีก 32 ล้านคาแรคเตอร์ ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่หนักและท้าทายที่สุดของดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น

เซิร์ฟเวอร์ HP ProLiant Generation 8 (Gen8) มีสมรรถนะในการประมวลผลสูง สามารถรับมือกับความต้องการในการทำงานเรนเดอร์ภาพของภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “เทอร์โบ” ได้เป็นอย่างดี โดยเซิร์ฟเวอร์ HP ProLiant Gen8 ช่วยเพิ่มปริมาณการทำเรนเดอร์ได้มากขึ้นถึงร้อยละ 40 มีประสิทธิภาพการทำงานต่อวัตต์ถึงร้อยละ 42 ส่งผลให้ดรีมเวิร์คส์ แอนิเมชั่น สามารถทำงานเรนเดอร์ได้มากถึง 500,000 ชิ้นงานต่อวัน ทำให้มั่นใจได้ว่าสตูดิโอจะมีกำลังในการทำงานด้านครีเอทีฟได้สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด

***สพธอ. เผยมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ NPMS

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ.เผยผลสืบเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ว่าจ้างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ศึกษาและจัดทำมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับผู้ประกอบการ (National Payment Message Standard: NPMS) โดยการทำงานอยู่ภายใต้คำแนะนำของคณะทำงานส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในระดับผู้ประกอบการ (ทอป.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล (ISO 20022) และ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งมาตรฐานกลางข้อความฯ NPMS เป็นมาตรฐานในการกำหนดรูปแบบโครงสร้างข้อความ เพื่อใช้ส่งรายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ใช้บริการ คือ ผู้ประกอบการภาคเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐ และผู้ให้บริการ คือ ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นรูปแบบข้อความหรือข้อมูลที่ให้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะ

ช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อนจากการเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลระหว่างธนาคาร หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการให้ดำเนินการได้ง่าย ในลักษณะของการทำธุรกรรมในรูปแบบเดียวที่เหมือนกันหมด ซึ่งในเบื้องต้นมีธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการจำนวน 18 หน่วยงาน เข้าร่วมในโครงการนำร่อง มีการทดสอบส่งข้อความตามมาตรฐานกลางฯ NPMS ระหว่างหน่วยงาน ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับผู้ประกอบการ (National Payment Message Standard: NPMS) (มธอ. 0001-2555) เป็นมาตรฐานที่อยู่ในรูปแบบโครงสร้างข้อความกลางที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ส่งรายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ใช้บริการ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐ และผู้ให้บริการ คือ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งข้อความที่ส่งผ่านระบบ ได้แก่ ข้อความที่ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐส่งให้ธนาคารพาณิชย์เมื่อต้องการชำระเงิน หลังจากนั้นธนาคารพาณิชย์จะส่งข้อความตอบกลับไปยังผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานภาครัฐเพื่อแจ้งข้อมูลสถานะของรายการและยอดเงินในบัญชี ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ

ทั้งนี้ การใช้งานรูปแบบข้อความที่มีมาตรฐานดังกล่าวนับว่าได้ผลดี เพราะช่วยลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยการเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลระหว่างธนาคาร หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการให้ดำเนินการได้ง่าย เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมโดยใช้เพียงรูปแบบข้อมูลเดียวสำหรับธนาคารทุกแห่ง สามารถบริการชำระเงินได้ในหลายประเทศ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานนำร่อง 18 หน่วยงาน เข้าร่วมทดสอบและใช้งานมาตรฐานกลางข้อความฯ NPMS ประกอบด้วย 1. ธ.กรุงเทพ 2. ธ.กสิกรไทย 3. ธ.กรุงไทย 4. ธ.ทหารไทย 5. ธ.ยูโอบี 6. ธ.กรุงศรีอยุธยา 7. ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) 8. ธ.ดอยซ์แบกซ์ เอจี สาขากรุงเทพฯ 9. ธ.มิซูโฮ คอร์ปอเรต 10. กรมศุลกากร 11. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 12. เอสซีจี 13. ทรูมันนี่ 14. ยูไนเต็ด แดรี่ฟูดส์ 15. เอสเอพี ซิสเต็มส์ 16. คริสตอลซอฟท์ 17. เน็ตเบย์ และ 18. เทรดสยาม

สำหรับมาตรฐานกลางข้อความฯ NPMS ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ครอบคลุมบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 6 ประเภท ประกอบด้วย 1. บริการโอนเงินระหว่างบัญชีภายในธนาคาร (Direct Credit) 2. บริการออกเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ (Cheque Outsourcing) 3. บริการโอนเงินรายย่อยครั้งละหลายรายการ (ITMX Bulk Payment) 4. บริการโอนเงินระหว่างบัญชีต่างธนาคารผ่านระบบบาทเนต (BAHTNet) 5. บริการโอนเงินระหว่างประเทศ (International Payment) และ 6. บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (Direct Debit) โดยมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินฯ NPMS ดังกล่าว ถูกเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาและประกาศใช้เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (มธอ.001-2555) เป็นที่เรียบร้อย และปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานงานกับกรมศุลกากรให้นำมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินฯ NPMS ไปใช้ในการดำเนินงาน National Single Window (NSW) ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น