xs
xsm
sm
md
lg

ประมูล 3G มวยล้มต้มคนดู!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศก่อนการประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
หลังการประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ต้องถือเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ เพราะเป็นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของไทยโดยกสทช.ด้วยเม็ดเงินการจัดงาน 30 ล้านบาทจบลง ทั้งนักวิเคราะห์ นักวิชาการ ตัวแทนเครือข่ายประชาชน ต่างเดินหน้าฟาดฟันถึงตัวเลขการประมูลที่รัฐได้เพียง 41,625 ล้านบาท ว่ากสทช. ทำให้รัฐ-ประชาชนเสียหาย รวมถึงโยงว่าเข้าข่ายการฮั้วตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

เป็นผลที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่กสทช.พยายามสร้างภาพก่อนหน้านี้ว่าจะมีการแข่งขันอย่างจริงจัง เพื่อแย่งช่วงความถี่ที่ดีที่สุด

ในการประมูล 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาสรุปได้ว่าบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ประมูลได้ใบอนุญาต 3 ใบที่ราคารวมกัน 14,625 ล้านบาท ส่วนบริษัทดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ประมูลได้ใบอนุญาตรายละ 3 ใบในราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท หรือหมายถึงทั้งดีแทคและทรู ได้ใบอนุญาตในราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบละ 4,500 ล้านบาทเท่านั้น พูดง่ายๆคือไม่ได้เสนอราคาเพิ่มเติมแต่อย่างใด ในขณะที่เอไอเอส เสนอราคา 2 ใบอนุญาตที่ 4,950 ล้านบาท และ 1 ใบอนุญาตที่ 4,725 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้นการประมูล รวม 1,125 ล้านบาท และทำให้ภาพรวมรัฐได้เม็ดเงินในการประมูล 41,625 ล้านบาท

เมื่อผลการประมูลออกมารูปแบบนี้ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากหากนำผลสรุปมูลค่ารวมการประมูลครั้งนี้มาเปรียบเทียบราคาตั้งต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาท จำนวน 9 ใบอนุญาต จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 40,500 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 2.77 % และเมื่อเทียบกับผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุราคาตั้งต้นการประมูลที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 6,440 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งหากคิดมูลค่ารวม 9 ใบอนุญาตที่นำออกประมูลจะมีค่าถึง 57,960 ล้านบาท ทำให้เห็นได้ชัดว่าราคาประมูลจริงต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับวีธีการประมูลในครั้งนี้ตั้งแต่แรกให้เหตุผลว่าการประมูลในครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และประชาชนในฐานผู้เสียภาษีทันที เมื่อเทียบจากราคาประเมิน (เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) ถึง 16,335 ล้านบาท และยังไม่รวมประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้จากการลดค่าสัมปทาน จากเดิมที่ต้องจ่ายให้รัฐปีละกว่า 40,000 ล้านบาท แต่กลับได้ใบอนุญาต 3G มูลค่าแสนถูก ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาทต่อปี (เทียบกับอายุใบอนุญาต 15 ปี)

นอกจากนี้ผลการประมูลครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นถึง ความผิดพลาดของกสทช. ที่พยายามโฆษณาให้ประชาชนเชื่อมาโดยตลอดว่าจะมีการแข่งขัน เนื่องจากคลื่นความถี่แต่ละชุดมีความแตกต่างกันมาก แต่ท้ายที่สุดช่วงคลื่น ที่กสทช.บอกว่าดีที่สุดกลับถูกยกเป็นชิ้นปลามันให้แก่ผู้ประมูลรายที่ไม่มีสิทธเลือกช่วงคลื่นความถี่

ยังไม่นับรวมข้อผิดพลาดร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการคือ 1.การจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่ากัน และ 2.การกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และเป็นผู้ร้องระงับการประมูล 3G ต่อศาลปกครองกลาง ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า ผลการประมูลออกมาดูเลวร้ายกว่าที่คาดไว้และที่สำคัญข้อกังวลที่ได้บรรยายไปในคำฟ้องต่อศาลปกครองก่อนหน้านี้ก็เกิดขึ้นจริงทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของการฮั้วกัน จากเกณฑ์ประมูลที่ กสทช.ออกแบบที่ผิดปกติ เพราะมี 6 ใบอนุญาตจากทั้งหมด 9 ใบอนุญาต ที่ไม่มีการแข่งขันใดๆ
ความชื่นมื่นอบอวลระหว่างการประมูล
ประกอบกับน.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่ให้ข้อมูลหลังการประมูลดังกล่าวว่าอาจขัดกับพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11

โดยในมาตราดังกล่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด หรือผู้ได้รับมอบหมายจาก หน่วยงานของรัฐผู้ใดโดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนด ผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญา กับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขัน ในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1แสนบาทถึง 4 แสนบาท

ยังไม่นับรวมการที่รัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานจากเอกชน 3 ราย คือ เอไอเอส ,ดีแทค ,ทรู เฉพาะปีที่แล้วปีเดียวเป็นจำนวนเงินสูงถึง 47,786 ล้านบาท ขณะที่ใบอนญาต 15 ปี เอกชน 3 รายเสียเงินเพียง 41,625 ล้านบาทเท่านั้น จึงมีแนวโน้มว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จากการประมูลครั้งนี้ไม่ใช่รัฐแต่เป็น"เอกชน"

สำหรับขั้นตอนต่อไป สำนักงานกสทช.จะต้องนำผลการประมูลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อพิจารณารับรองผลและออกใบอนุญาต ซึ่งต่อจากนี้ไป คงต้องดูว่าเมื่อราคาประมูลต่ำ ได้ความถี่มาเสมือนลาภลอยแล้ว ค่าบริการด้านข้อมูล เมื่อเปิดให้บริการ 3G จะถูกลงและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค หรือไม่ เนื่องจากกสทช.ยังไม่มีมาตรการใดมารับประกันในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเรื่องของเพดานค่าบริการ การครอบคลุมพื้นที่ คุณภาพคลื่นความถี่ หรือการเข้าถึงของผู้ด้อยโอกาส

ถึงแม้การประมูลจะเกิดขึ้นและเอกชนจะได้ความถี่ 3G ไปครอบครอง แต่ไม่ใช่หมายถึงภารกิจเสร็จสิ้น แต่มันจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการฟ้องร้องตามมาอีกหลายคดี ความคลางแคลงใจของการทำหน้าที่ของกสทช.ว่าเจตนาเอื้อประโยชน์ใครหรือภาคส่วนไหนเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมสามารถพิสูจน์ได้ว่าบทบาทการกำกับดูแลโดยเฉพาะเรื่องอัตราค่าบริการ และเรื่องอื่นๆที่ยังไม่กำหนดชัดเจน จะเข้มข้นและเป็นประโยชน์กับส่วนรวมมากแค่ไหน

***นับถอยหลัง 6 เดือนได้ใช้ 3G แท้***

ถ้าผลการประมูลวันที่ 16 ต.ค.ไม่ถูกล้มเลิกไปเสียก่อน ตามข้อมูลจากผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 รายที่ออกมาระบุว่า หลังได้ใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz แล้วจะพร้อมให้บริการแก่ประชาชนภายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีใบอนุญาตนี้ ข้อจำกัดของโทรศัพท์ที่เคยเป็นปัญหาตอนใช้บริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิมอย่าง 850 MHz และ 900 MHz จะหมดไป เพราะทุกเครื่องจะรองรับ 3G ที่ความถี่ 2.1 GHz

เมื่อเป็นเช่นนั้น แต่ละผู้ให้บริการจึงจำเป็นที่จะต้องนำกลยุทธ์ทางการตลาดออกมาเชิญชวนให้ผู้บริโภคเกิดการย้ายค่ายทั้งในรูปแบบของผู้ให้บริการเดิม และผู้ให้บริการใหม่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือผู้บริโภคจะได้เห็นสมาร์ทโฟนในราคาประมาณ 3,000 บาทเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะได้เห็นรูปแบบการให้บริการแบบซับซิไดซ์ของโอเปอเรเตอร์ ที่จับมือกับสมาร์ทโฟนแบรนด์สัญชาติจีน เชิญชวนให้ประชาชนในระดับรากหญ้าซึ่งเป็นฐานผู้ใช้ส่วนใหญ่ของประเทศหันมา ใช้บริการ

ขณะที่ในกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน พร้อมกับดาต้า แพกเกจที่มีอยู่แล้ว เมื่อการเชื่อมต่อมีความเร็วสูงขึ้น เสถียรขึ้น ก็จะได้เห็นคอนเทนต์ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งการใช้งานดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ที่ครบอรรถรสมากขึ้น แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของคอนเทนต์เหล่านี้คือเพิ่มปริมาณการใช้งานดาต้า เพราะแนวโน้มรายได้หลักของเครือข่ายผู้ให้บริการ 3G ในต่างประเทศจะอยู่กับค่าบริการในส่วนนี้

ท้ายสุดเมื่อเกิดการให้บริการ 3G ที่แท้จริงแล้ว ปัญหาสายหลุด เน็ตเต่า ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้จะถูกคลี่คลายไปอย่างแน่นอน...

Related Link :
กสทช
กำลังโหลดความคิดเห็น