xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีเซ็นแท็บเล็ตล็อตแรก 4 แสนเครื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็ก ป.1 ได้ใช้แท็บเล็ตแน่ปลายเดือนมิถุนายน หรือไม่เกินกรกฎาคมนี้ “อนุดิษฐ์” ยันหลังเซ็นสัญญาล็อตแรก 4 แสนเครื่องต้องส่งมอบภายใน 60 วัน ขั้นตอนต่อไปไอซีทีจะเหินฟ้าไปจีนดูคุณภาพเครื่องต้นแบบก่อนผลิตจริง มั่นใจสโคปผลิตทันกำหนด





น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามในสัญญาโครงการจัดหาแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 หรือโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียน (One Tablet PC Per Child) กับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ หรือที่เรียกกันว่าสโคแพด โดยนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ลงนามในสัญญาการสั่งซื้อแท็บเล็ตระยะแรกจำนวน 400,000 เครื่อง ด้วยมูลค่า 32.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 82 เหรียญต่อเครื่อง

ทั้งนี้ คาดว่าแท็บเล็ตล็อตแรกจะส่งถึงไทยประมาณปลายเดือนมิถุนายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินต้นเดือนกรกฎาคม แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาส่งมอบไม่เกิน 60 วันนับจากวันที่ 10 พฤษภาคม ไม่เช่นนั้นจะมีบทลงโทษตามสัญญา

“ภายในสัปดาห์หน้าหรือไม่เกิน 28 วันจากนี้กระทรวงไอซีทีจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปดูเครื่องต้นแบบก่อนจำนวน 2,000 เครื่องที่ประเทศจีนเพื่อตรวจสอบคุณภาพว่าตรงกับทีโออาร์ ก่อนจะเริ่มเดินสายการผลิตจริง ซึ่งมีกำลังการผลิตได้วันละ 20,000 เครื่อง”

หลังจากนั้นในระยะที่ 2 กระทรวงไอซีทีจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมในส่วนที่เหลืออีก 5.3 แสนเครื่องภายหลังได้รับส่งมอบแท็บเล็ตในระยะแรกครบหมดแล้ว โดยต้องจัดส่งให้ครบภายใน 90 วัน หรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ โดยในระยะที่ 2 จะต้องมีการลงนามในสัญญาจัดซื้ออีกครั้งหนึ่งกับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ และบริษัทต้องทำเรื่องขอเแบงก์การันตี 5% ของมูลค่าโครงการทั้งหมดกับธนาคารแห่งประเทศจีน หรือแบงก์ออฟไชน่าอีกครั้งด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับการจัดส่งแท็บเล็ตไปยังสถานศึกษา และโรงเรียนทั่วประเทศนั้น เบื้องต้นได้ให้บริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นผู้จัดส่ง โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ส่งมอบไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนนักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศมีประมาณ 8.5 แสนคน ขณะที่โรงเรียนที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประมาณ 2 หมื่นโรงเรียน แต่มีโรงเรียนที่พร้อมรองรับโครงการแท็บเล็ตเพียง 9,600 โรงเรียนเท่านั้น โดยช่วงเดือนแรกของการเปิดเทอมจะต้องมีการปรับการเรียนการสอนก่อน หลังจากนั้นนักเรียนจะได้ใช้แท็บเล็ตราวเดือนกรกฎาคม ซึ่งในช่วงเทอมแรกจะเป็นการใช้งานแท็บเล็ตแบบออฟไลน์ เทอม 2 จึงเป็นการใช้งานแบบออนไลน์

น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า กระทรวงไอซีทียังของบโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการขนส่งแท็บเล็ตไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ โดยกระทรวงไอซีทีได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อขอสนับสนุนงบกลางฉุกเฉินประจำปี 2555 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นได้เสนอของบจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าครม.จะอนุมัติก่อนได้รับเครื่องแท็บเล็ตในระยะแรก

สำหรับราคาแท็บเล็ตต่อเครื่องที่สโคปได้เสนอไว้อยู่ที่ 82 เหรียญ หรือประมาณ 2,400 บาท ซึ่งจะจัดส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ มาพร้อมสเปก หน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว หน่วยบันทึกข้อมูล 8GB หน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียู แบบดูอัลคอร์ 1.2GHz และหน่วยความจำหลัก 1GB ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 (Ice Cream Sandwich) และใช้แบตเตอรี่ชนิด Lithium Polymer ขนาดความจุ 3,600 mAh รับประกัน 2 ปี

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และสร้างความเข้าใจ เพื่อการใช้งานเครื่องแท็บเล็ตต่อไป

ด้าน นายจุน หลิว ประธานบริษัท เสิ่นเจิ้นสโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ กล่าวว่า บริษัทสามารถผลิตแท็บเล็ตได้ 2 หมื่นเครื่องต่อวัน โดยบริษัทมีแผนที่จะตั้งศูนย์บริการในประเทศไทยโดยวางแผนไว้เบื้องต้น 30 ศูนย์ทั่วประเทศเพื่อให้บริการหลังการขายกับแท็บเล็ตของโครงการดังกล่าวที่มีปัญหา โดยจะมีแท็บเล็ตสำรองให้ใช้งานระหว่างซ่อม

สำหรับรายได้ของบริษัทที่ผ่านมามียอดขายกว่า 1,000 ล้านเหรียญ โดย 80% มาจากการส่งออก ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทส่วนใหญ่จะผลิตเกี่ยวกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้แก่หลายบริษัท เช่น หน้าจอเจวีซี ฮุนได ซัมซุง แดวู และอาค่า ส่วนแผนการทำตลาดในประเทศไทยนั้นมีความสนใจแต่ต้องดูอนาคตว่าจะมีสินค้าที่ทันสมัยกว่านี้หรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะนำสินค้ามาทำตลาดในไทยอย่างจริงจัง

“เรามั่นใจว่าแท็บเล็ตที่ผลิตในโครงการดังกล่าวมีคุณภาพ และได้มาตรฐาน เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีความชำนาญในการผลิตหน้าจอแสดงผลอยู่แล้ว นอกจากนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการต่อรองกับรัฐบาลปากีสถาน บราซิล และแอฟริกาใต้ ที่จะเข้าร่วมโครงการผลิตแท็บเล็ตให้ประเทศเหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน”

Company Relate Link :
ICT






กำลังโหลดความคิดเห็น