xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมทำคอมพ์แพง?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำท่วมไทย พีซีโลกเสี่ยงแพงขึ้น?
เมืองไทยไม่ใช่แหล่งผลิตคอมพิวเตอร์ แต่วิกฤติเมืองไทยจมบาดาลปี 54 นี้กำลังทำให้สายพานการผลิตคอมพิวเตอร์โลกบางส่วนหยุดชะงัก และในนาทีที่ผู้ผลิตต่างพยายามดิ้นรนเพื่อล้อมคอกปัญหาสินค้าขาดตลาดเช่นนี้ ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ค่ายคอมพ์ยักษ์ใหญ่จะยอมแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเอาไว้เอง หรือจะส่งต่อภาระให้ผู้บริโภค

หากเป็นแบบหลัง พวกเราผู้ใช้คอมพิวเตอร์คงต้องก้มหน้าเตรียมสตางค์ไว้รับการเปลี่ยนแปลง

ใครได้ฟังแบบนี้อาจสงสัยว่าทำไมน้ำท่วมไทยถึงไปกระทบกับอุตสาหกรรมพีซีโลก คำตอบนั้นไม่ใช่ความเห็นโคมลอย แต่เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทานในตำราเศรษฐศาสตร์

เพราะคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นเป็นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสูง วิกฤติน้ำท่วมประเทศไทยนั้นทำให้การผลิตส่วนประกอบที่สำคัญของคอมพิวเตอร์ นั่นคือไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟบางส่วนต้องหยุดไปชั่วคราว โดยโรงงานซึ่งผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟราว 1 ใน 3 ของไทยจำเป็นต้องปิดทำการหลังได้รับผลกระทบน้ำท่วมซึ่งเริ่มตั้งเค้าตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เมื่อผลิตได้น้อย แต่ความต้องการสูง ราคาฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟย่อมดีดตัวสูงขึ้นเป็นธรรมดา

ราคาฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลกระทบถึงผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทุกราย ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์พีซีซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์หรือแมคอินทอชของแอปเปิล ซึ่งเมื่อตลาดคอมพิวเตอร์พีซีได้รับผลกระทบ ระบบนิเวศน์ในอุตสาหกรรมไอทีทั้งผู้ผลิตชิป ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ผู้ใช้บริการระบบ ตัวแทนจำหน่าย และอีกหลายส่วนย่อมได้รับผลกระทบโดยอ้อมทั้งสิ้น

เบื้องต้นคาดกันว่า เวลานี้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์มีฮาร์ดดิสก์กักตุนไว้ใช้อีก 2 สัปดาห์ ส่วนตัวแทนจำหน่ายมีผลิตภัณฑ์เพียงพอสำหรับการจำหน่ายช่วง 4 สัปดาห์เท่านั้น
ภาพถ่ายสายพานการผลิตของเดลล์ ล่าสุดเดลล์คือบริษัทที่ถูกจับตาว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมไทย
ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของโลกจะผลักภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วมไทยให้กับผู้บริโภคหรือไม่ สื่อมวลชนทั่วโลกมีการวิเคราะห์สถานการณ์ของแต่ละภาคส่วนไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในมุมของประเทศไทยที่คนไทยอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

บริษัทวิจัยไอเอชเอส ไอซัปพลาย (IHS iSuppli) นั้นระบุว่า ไทยคือผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟราว 1 ใน 4 ของโลก โดยไทยเป็นประเทศที่ตั้งโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน ขณะที่ไอดีซี (IDC) ประเมินว่าวิกฤติน้ำท่วมไทยจะกระทบการผลิต 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งปกติแล้วจะมีจำนวนมากกว่า 120 ล้านชิ้นต่อปี

เมื่อไทยไม่สามารถผลิตฮาร์ดไดร์ฟได้ตามปกติ สินค้าจึงขาดตลาด ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นราคาไดร์ฟบางชนิดที่เพิ่มขึ้นแล้วหลายดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะต้นทุนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นผลดีต่อใครเลย โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ต้องปวดหัวกับการ"แย่งซีน"ของแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเห็นได้จากชาวสหรัฐฯและยุโรปที่กำลังอยู่ในช่วง"เลื่อนการเปลี่ยนคอมพ์เครื่องใหม่"ออกไป

ต้องถือว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พีซี เพราะก่อนหน้านี้ เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิวันที่ 11 มีนาคมที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ทำให้การผลิตชิปหน่วยความจำชะงักไปรอบหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่วายต้องปวดใจกับพิษฮาร์ดไดร์ฟขาดแคลนเช่นวันนี้

เรื่องนี้ผู้ผลิตฮาร์ดไดร์ฟรายใหญ่ของไทยทั้งซีเกท (Seagate) และดับบลิวดี (Western Digital) ล้วนออกมายอมรับว่าฮาร์ดไดร์ฟโลกอาจขาดแคลนต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ถึงต้นปีหน้า (2012) โดยรายแรกบอกว่าบริษัทยังคงผลิตฮาร์ดไดร์ฟต่อไปแต่ไม่เต็มที่เพราะไม่สามารถรับส่งส่วนประกอบในสายพานการผลิตได้สะดวกเช่นปกติ ขณะที่รายหลังบอกว่าจำเป็นต้องปิดโรงงานลง 2 โรงเพราะเครื่องจักรได้รับความเสียหาย และกำลังเปิดสายการผลิตที่โรงงานในประเทศมาเลเซียอย่างเต็มกำลัง

งานนี้ดับบลิวดีดูจะเจ็บหนักกว่าใคร เพราะฮาร์ดไดร์ฟดับบลิวดีเกินครึ่งนั้นผลิตจากโรงงานในประเทศไทย หลังการประกาศ มูลค่าหุ้นดับบลิวดีหล่นวูบ 15%

นอกจาก 2 รายใหญ่ โตชิบา (Toshiba) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดร์ฟก็ต้องหยุดผลิตชั่วคราวเช่นกัน ทั้งหมดสร้างความกังวลให้กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ถ้วนหน้า

ไล่ตั้งแต่แอปเปิล (Apple) ซีอีโอทิม คุ้ก (Tim Cook) เชื่อว่าอุตสาหกรรมไอทีทั้งหมดจะได้รับผลกระทบจากพิษฮาร์ดไดร์ฟขาดตลาด โดยยอมรับว่าสายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Mac) จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะทั้งไอโฟน (iPhone) และไอแพด (iPad) นั้นไม่ได้ใช้ฮาร์ดไดร์ฟแต่ใช้แฟลชเมมโมรี่แทน ซึ่งซีอีโอแอปเปิลไม่ให้ข้อมูลกรอบเวลาที่คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะผ่อนคลายลงเมื่อใด
ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้รับภาระต้นทุนการผลิตพีซีที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติน้ำท่วมไทยหรือไม่
เดลล์ (Dell) ผู้ผลิตพีซีอันดับ 3 ของโลกนั้นคาดว่าเหตุน้ำท่วมไทยจะกระทบยอดขายเดลล์เพียงเล็กน้อยในไตรมาสปัจจุบัน และเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดในไตรมาสหน้า เดลล์จึงอยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้ผลิตฮาร์ดไดร์ฟรายอื่นเพื่อหาทางออกที่ดีและเร็วที่สุด

เอชพี (Hewlett-Packard) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเบอร์ 1 ของโลก ระบุว่าการผลิตของเอชพียังดำเนินต่อไปได้ตามปกติ และขณะนี้บริษัทกำลังจับตาสถานการณ์น้ำท่วมไทยอย่างใกล้ชิด

ดูเหมือนว่าทุกคนจะสงวนท่าทีเหลือเกินในการประเมินความเสียหาย เพราะบริษัทวิจัยอย่างการ์ทเนอร์ (Gartner) เรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น"การหยุดชะงักที่จริงจังและต่อเนื่อง" ซึ่งเป็นการประเมินจากความเสียหายในเครื่องมือการผลิตหลักของโรรงานฮาร์ดไดร์ฟ เบื้องต้นคาดว่าฮาร์ดไดร์ฟโลกจะขาดตลาดถึงเดือนมีนาคม ปีหน้า

เรื่องนี้ตรงกับคำแถลงของดับบลิวดี ที่ประเมินว่าบริษัทต้องใช้เวลาอีกหลายไตรมาสกว่าจะฟื้นฟูให้สายการผลิตของบริษัทกลับมาดำเนินงานได้เต็มที่ดังเดิม อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ในระดับร้ายแรงที่สุด เพราะอุตสาหกรรมไอทีโลกนั้นได้เรียนรู้ที่จะรับมือจากภัยธรรมชาติแล้ว จึงทำให้มีการกระจายความเสี่ยงและตั้งโรงงานในประเทศอื่น ไม่เช่นนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมร้ายแรงกว่านี้

ทั้งหมดทั้งปวง นักวิเคราะห์เชื่อว่าการแก้สถานการณ์ต่างๆในอุตสาหกรรมพีซีโลกจะทำได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ผลิตจะไม่มีทางเลี่ยงภาวะรายได้หดหายในระยะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งวิกฤติหน่วยความจำขาดตลาดจากเหตุสึนามิที่ญี่ปุ่น

แต่โลกนี้ย่อมไม่มีใครเห็นในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เพราะสเตซี สมิธ (Stacy Smith) ประธานฝ่ายการเงินของอินเทล (Intel) ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกนั้นเพิ่งออกมาให้ความเห็นว่า ยอดจำหน่ายพีซีโลกจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากภาวะชิปขาดตลาดในไตรมาสปัจจุบัน เพราะผู้ผลิตยังคงมีสินค้าคงคลังและยังมีผู้ผลิตฮาร์ดไดร์ฟรายอื่นเป็นตัวเลือกอยู่

แน่นอนว่าอินเทลยังไม่พูดถึงการคาดการณ์ในไตรมาสหน้า ซึ่งหากคอมพิวเตอร์โลกผลิตได้น้อยลง ชิปโปรเซสเซอร์ของอินเทลก็จะมียอดขายตกลงเช่นกัน

วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่ฝันร้ายของอุตสาหกรรมไอทีอย่างเดียว แต่เป็นฝันร้ายของเมืองไทยที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมแล้วถึง 317 ราย โดยคนไทยมากกว่า 9 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย คาดว่าจะทำลายเศรษฐกิจไทยหลายแสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น