เอเอฟพี - ผู้ประสบอุทกภัยชาวไทย ไม่เพียงต้องยืนหยัดฟันฝ่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงภัยจากทั้งจระเข้ที่หลุดจากฟาร์ม ทั้งการถูกงูพิษกัด และเรื่องกระแสไฟฟ้า ทว่า อันตรายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนามัยเตือนว่า เป็นความเสี่ยงสูงสุด คือ การจมน้ำและโรคภัยไข้เจ็บ
วิกฤตน้ำท่วมที่อุบัติขึ้นตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้วกำลังทะลักเข้าสร้างความโกลาหลในกรุงเทพฯ ขณะที่สถานการณ์ความด้านมนุษยธรรมกำลังเข้าขั้นวิกฤต หน่วยงานช่วยเหลือต่างๆ ล้วนขะมักเขม้นเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเต็มความสามารถ
“คุณต้องไม่สร้างความแตกตื่น” แมตธิว โคเชรน โฆษกคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ให้คำแนะนำถึงสถานการณ์น้ำท่วมไทย “คุณต้องหาสมดุลระหว่างการตื่นตัวกับการตื่นกลัว”
ชุมชนที่ถูกน้ำท่วมต่างได้รับคำเตือนให้ระวังงูพิษที่ว่ายมาตามน้ำสีคล้ำ รวมทั้งเหตุไฟดูดจากเสาไฟที่แช่น้ำ และสายไฟที่ร่วงลงพื้นน้ำ นอกจากนี้ ยังมีรายงานการจับจระเข้ในพื้นที่ปริมณฑลหลายครั้ง หลังจากมีจระเข้หลุดรอดออกจากฟาร์ม ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งความกังวลใหญ่
ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักมากกว่าปกติ ประกอบกับน้ำล้นที่เขื่อนจำต้องระบายออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 370 ราย ผู้ประสบภัยจำนวนมากต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิง ขณะที่มวลน้ำในกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะบรรเทา
ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำว่า ความจำเป็นเร่งด่วนคือการรักษาระดับสุขอนามัย โดยหน่วยงานช่วยเหลือต้องเร่งส่งมอบน้ำสะอาดและสุขาลอยน้ำให้กับประสบภัยหลายหมื่นครัวเรือน
“เรากำลังพูดถึงสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น น้ำดื่มที่สะอาด การล้างมือ และความมั่นใจว่า บริเวณที่ล้างตัวและขับถ่ายได้แยกออกจากส่วนที่พัก” แมตธิว โคเชรน กล่าว “ความกังวลหลักๆ ในน้ำท่วมทุกครั้ง คือ โรคที่มากับน้ำและโรคที่มียุงเป็นพาหะ”
นอกจากนี้ เขายังเตือนว่า ในพื้นที่น้ำขัง “มีความเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกและโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น” และการเตรียมความพร้อมที่ดีย่อมสามารถหลีกเลี่ยงการระบาดของโรคจากน้ำท่วมได้
อีกมุมหนึ่ง เมารีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากอุทกภัยที่น่าหวั่นเกรงที่สุด
“นั่นคือ ความกังวลสูงสุด” เธอกล่าว “หนึ่งในพฤติกรรมเสี่ยงที่มีรายงาน คือ การหาปลา เพราะฉะนั้น เราขอเรียกร้องให้ประชาชนใช้ความระมัดระวัง”
แมตธิว โคเชรน กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยมีความรู้เรื่องสุขอนามัยดี แต่เรื่องที่มีการร้องเรียนจำนวนมาก คือ ปัญหาการขาดแคลนสุขา โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมสูง
“น้ำท่วมเข้ามาในห้องน้ำบ้านฉัน” นางกุสุมา กมลใจ ผู้ประสบในจังหวัดปทุมธานีวัย 34 ปี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว “ฉันใช้ห้องน้ำไม่ได้เลย ฉันต้องเดินข้ามถนนไปใช้ห้องน้ำบ้านญาติ” ตัวเลือกอีกทางหนึ่งของเธอบอกกล่าว คือ การขับถ่ายใส่ถุงพลาสติก
ขณะเดียวกัน ผู้ประสบภัยอีกจำนวนหนึ่งต้องเดินลุยน้ำท่วมสูง นายสุรพล ปินพล ผู้ประสบวัย 57 ปี กล่าวขณะยืนอยู่ในน้ำท่วมระดับหน้าอก ว่า “ผมไม่มีทางเลือก แต่ตอนกลับถึงบ้าน ผมก็จะล้างเนื้อล้างตัว”
เมารีน เบอร์มิงแฮม แนะนำว่า โรคติดต่อ เช่น โรคตาแดง อาจระบาดได้ง่ายในกลุ่มผู้อพยพ รวมทั้งโรคติดเชื้อทางผิวหนัง และโรคฉี่หนู ที่มากับเชื้อแบคทีเรียที่มากับน้ำ
นอกจากนี้ การสูญเสียชีวิตความเป็นอยู่ตามปกติย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ เรื่องสุขภาพจิตจึงเป็นที่กังวลมากยิ่งขึ้น ในกรณีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ออกดูแลสุขภาพจิตและช่วยให้ผู้ประสบภัยเกือบ 100,000 คน ผ่านพ้นวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ไปให้ได้