xs
xsm
sm
md
lg

2011 หายนะโทรคมไทย !!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย่าลืมเทพเทือก – หากจุติ ไกฤกษ์ จะบี้ค่ายมือถือเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท อย่าลืมฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯพรรคท่านด้วย เพราะเคยเป็นรมว.คมนาคมในยุคที่มีการแก้สัญญามือถือเหมือนกัน
ถือได้ว่าเป็นช่วง 15 วันอันตรายสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไทยก็ว่าได้ หลังจากมติครม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้เวลาจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที 15 วัน หรือ ครบกำหนดในวันที่ 16 ก.พ. 2554 สรุปผลการเจรจาต่อรองกับบริษัทโทรคมนาคมไทย ที่มีการแก้ไขสัญญาผิดขั้นตอน ไม่ผ่านกระบวนการตามพรบ.ร่วมทุน ฯปี 2535 ประกอบด้วยสัญญาจาก 4 บริษัทหลักอย่างเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และไทยคม

มตินี้สำคัญถึงขั้นนายกฯ ลงทุนออกมาแถลงรายละเอียดด้วยตัวเอง โดยเนื้อหาประมาณว่า เรื่องของการแก้สัญญาสัมปทานของบริษัทโทรคมนาคมนั้น สืบเนื่องมาจากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความไม่ถูกต้องของสัญญาสัมปทานที่มีการแก้ไข โดยกระทรวงไอซีทีได้รายงานมาให้ครม.ทราบว่า การแก้ไขสัญญาแต่ละครั้งกับแต่ละบริษัทมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

โดยหลักก็คือ กรณีที่เป็นการแก้ไขที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่นการเปลี่ยนที่อยู่ ก็ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรา 22 ของพรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 และครม.ก็ให้ความเห็นชอบไปได้

ส่วนกรณีการแก้ไขสัญญาในลักษณะซึ่งเป็นสาระสำคัญและกระทบกับประโยชน์ของรัฐ เช่น การไปปรับลดส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็รายงานมาว่า จะไปดำเนินการเจรจาเพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวคำวินิจฉัยของศาล รวมทั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกาและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยจะไปเจรจาและรายงานกลับมาให้ทราบภายใน 15 วัน ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีต้องเตรียมมาตรการรองรับหลังจากนี้ถ้ามีผลการเจรจาเป็นอย่างไร ก็จะต้องสามารถดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงานรัฐและประชาชนผู้รับบริการได้ด้วย

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าระยะเวลา 15 วันกับการเจรจาเม็ดเงินมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท กำลังจะกลายเป็นหายนะของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในเมื่อภาคการเมืองมีการตั้งโจทย์ให้กับรัฐวิสาหกิจอย่างทีโอที กสท เปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานให้บริการโทรคมนาคมมาเป็นโจทก์ ฟ้องร้องค่าเสียหายด้วยการไล่เบี้ยค้าคดีความทางศาลกับคู่สัญญาสัมปทาน โดยอ้างความชอบธรรมในการดูแลผลประโยชน์หน่วยงานรัฐเป็นที่ตั้ง บริษัทเอกชนเป็นจำเลย โดยมีประชาชนผู้ใช้บริการเป็นตัวประกัน ในลักษณะ 2 มาตรฐาน

มาตรฐานแรก ไล่บี้การแก้ไขสัญญาณสัมปทานโทรศัพท์มือถือเอไอเอส พ่วงด้วยดีแทคเพื่อมิให้เกิดข้อครหาถึงการจ้องจองล้างจองผลาญ เอไอเอสเพื่อผลทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนกับมาตรฐานที่สองคือการเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย โดยเฉพาะสมการคิดค่าความเสียหายที่ทางคณะกรรมการมาตรา 22 เสนอนั้น ถูกมองว่า เป็นตัวเลขที่ยังมิอาจคำนวณพิสูจน์ทราบตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้

อีกทั้งไม่สามารถยืนยันได้ว่าหากคิดอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาเดิมแล้ว รายได้ของ เอไอเอส จะมีจำนวนเท่ากับรายได้ในปัจจุบันหรือไม่ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เอไอเอสเจรจาและยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเอไอเอสได้ส่งหนังสือคัดค้านข้อเรียกร้องของทีโอทีทุกประการไปแล้ว

ค่าเสียหายที่ทีโอทียื่นโนติ๊สให้เอไอเอสมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรก ให้เอไอเอสชำระเงินส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเติมในกรณีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้บริการบัตรเติมเงินหรือพรีเพด การหักค่าใช้จ่ายการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) จำนวนเงินรวม 36,995,636,889.80 บาท กับส่วนที่สอง การหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม จำนวนเงินรวม 36,816,942,676.13 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีโดยมีเส้นตายในวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ โดยทีโอทีอ้างสาเหตุที่ต้องฟ้องเพราะเป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553

ถึงแม้ว่าซีอีโอของเอไอเอส 'วิเชียร เมฆตระการ' จะเคยให้ข้อมูลและให้ความเห็นต่อรมว.กระทรวงไอซีที เมื่อช่วงต้นเดือนม.ค. ที่ผ่านมาว่า การแก้สัญญาครั้งที่ 6 ในส่วนปรับลดส่วนแบ่งรายได้ ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะรัฐและประชาชน โดยในส่วน ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับ ส่วนแรก อัตราค่าใช้บริการถูกลง โดยปรับลดลงจากเดิมเฉลี่ยนาทีละประมาณ 5 บาท เหลือไม่ถึง 1 บาทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าส่วนแบ่งรายได้ปรับลดลงเป็นผลทำให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้บริการโทรศัพท์มือถือต่อเดือนเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างทั่วถึงจากการลดค่าบริการ ส่งผลให้อัตราส่วนของผู้ใช้บริการของพรีเพดต่อจำนวนประชากรของไทยทั้งหมด ในปี 2544 ที่มี 5.08% เพิ่มสูงขึ้นถึง 98% ในปี 2553 หรือจาก 3.5 แสนคนในธ.ค.2543 เป็น 27.6 ล้านคนในเดือนพ.ย. 2553 เฉพาะของเอไอเอส

ผลประโยชน์ที่ทีโอที ได้รับ คือ 1.เมื่อประชาชนสามารถมีโอกาสเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงมากขึ้น ทำให้เอไอเอสมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและทีโอทีจะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากไม่มีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้ ทั้งเอไอเอสและทีโอทีย่อมต้องสูญเสียรายได้เป็นเงินจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะทีโอทีจะสูญเสียส่วนแบ่งรายได้เป็นเงินประมาณ 13,863 ล้านบาท

2.จากการขยายตัวของผู้ใช้บริการทำให้เอไอเอสต้องลงทุนสร้างสถานีฐานมากกว่า 12,000 สถานีฐาน ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานทั่วประเทศ อีกทั้งเอไอเอสได้ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้ทีโอทีตามสัญญา โดยมีมูลค่าการลงทุนคิดเป็น 165,851 ล้านบาทในปี 2553 และประมาณการจนถึงปี 2556 ไม่ต่ำกว่า 174,351 ล้านบาท

ขณะที่คณะกรรมการมาตรา 22 ก็ยังมีการพิจาราณาการแก้ไขสัญญาของดีแทคในทำนองเดียวกับเอไอเอส รวมไปถึงทรูมูฟด้วย แต่อาการดูไม่สาหัสเท่ากับที่เอไอเอสโดน

ส่วนที่สอง กรณีการนำภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากเงินส่วนแบ่งรายได้ตามนโยบายของรัฐบาลชุดที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการจัดแบ่งเงินรายได้ตามสัญญาสัมปทานบางส่วนไปเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเตรียมการแปรสภาพองค์การโทรศัพท์ในขณะนั้นเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีหลักการสำคัญว่า รัฐไม่ได้รับความเสียหายใด โดยรัฐยังคงได้รับส่วนแบ่งรายได้เท่าเดิม ผู้ประกอบการไม่มีภาระเพิ่ม ผู้ใช้บริการไม่ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่ม

ประเด็นนี้ ทั้งทรูมูฟและดีแทคต่างก็ถูกดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้ทีโอทีได้เรียกร้องในเรื่องภาษีสรรพสามิตไว้แล้ว ด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการโดยเอไอเอส ดำเนิการตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2551 โดยขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ

การแก้ไขสัญญามือถือ การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่เคยมีคำตัดสินใดๆว่าบริษัทเอกชนผิด มีแต่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งควรจะผูกพันเฉพาะคู่กรณี ผลของคำพิพากษาทำให้เกิดการยึดทรัพย์ไปกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท แต่รัฐกลับมาเรียกค่าความเสียหายซ้ำซ้อนมากขึ้น เข้าข่าย 'Double Jeopardy' หรือ ไม่ควรมีการลงโทษซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ได้รับผลไปแล้ว

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างมากว่า ภาครัฐจะดำเนินการกับปัญหานี้อย่างไร เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบกับความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรงกระทบกับการลงทุนมหภาค ความน่าเชื่อถือในตลาดเงินและตลาดทุน อย่างกรณีเอไอเอสเป็นหุ้นบลูชิป ที่ได้รับรางวัลด้านบรรษัทภิบาล และเป็นหุ้นที่มีการลงทุนจากสถาบันจำนวนมาก รวมทั้งยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อย หากรัฐตัดสินใจไม่ถูกที่ถูกเวลาและถูกเงื่อนไขแล้ว จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ประเด็นสำคัญ คือ นักลงทุนมองว่า รัฐกำลังจัดการปัญหาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแบบ 2 มาตรฐาน ในขณะที่ไล่ล่าเอไอเอสอย่างหนัก แต่กลับมีการเซ็นสัญญาแบบสายฟ้าแลบระหว่าง กสทกับกลุ่มทรู 4 ฉบับ โดย 2 ฉบับแรกเป็นสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์ระบบ HSPA จากทรู ระยะยาวประมาณ 14 ปี โดยกสทจะต้องเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเสาโทรคมนาคมทั่วประเทศเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตามความต้องการของกลุ่มทรู เพื่อให้กลุ่มทรูนำอุปกรณ์ HSPA มาติดตั้ง แล้ว กสท จะเข้าไปเช่าใช้อุปกรณ์ HSPA

ส่วนฉบับที่ 2 เป็นสัญญาให้บริการขายส่งผ่านโครงข่ายของ กสท จำนวน 80% ของคาปาซิตี้ของระบบให้บริษัท เรียลมูฟไปขายต่อบริการ ส่วนสัญญาฉบับที่ 3 และ 4 เป็นสัญญา เช่าเครื่องและอุปกรณ์วิเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ 25 จังหวัดและสัญญาดูแลลูกค้าเดิมในระบบซีดีเอ็มเอให้เปลี่ยนมาใช้ระบบ HSPA มีระยะเวลาของสัญญา 24 เดือน โดยกสท จะจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้กลุ่มทรูในอัตรา 80%

ผลของการเซ็นสัญญาแบบสายฟ้าแลบ คาดว่าแสงสว่างเข้าตาผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายและเชื่อว่านับจากนี้ต่อไป ดีลประวัติศาสตร์ระหว่างกสทกับกลุ่มทรู จะอยู่ในจุดโฟกัสไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน กรรมาธิการ ปปช. สตง. และผู้มีบารมีอีกหลายราย หากเมื่อไหร่ที่เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ชีวิตย่อมไม่มีความสุขแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่มทรูใช้นโยบายผ่อนปรน ผ่อนสั้นผ่อนยาวเหมือนในอดีตที่วงการนี้เคยเกื้อกูลกันไม่ว่าจะเป็นกรณีการเกิดพีซีที หรือ ดีแทคเข้า 01 หรือการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้พรีเพด รวมทั้งการเซ็งลี้คลื่นความถี่ให้สัมปทานต่อของดีแทค จนทำให้เกิดทรูมูฟ ดีพีซี ก็อาจทำให้ลดกระแสการต่อต้านที่รุนแรงลงไปได้บ้าง

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอให้ความเห็นน่าฟังว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย จะไม่มีการแข่งขันกันด้วยความสามารถในการให้บริการอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นผู้ให้บริการที่มีความสัมพันธ์กับผู้กำหนดนโยบายจะได้เปรียบในการแข่งขันแทน เช่นเดียวกับ อานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระทางด้านสื่อสาร และสารสนเทศที่เห็นว่ากรณีนี้ ประชาชน และรัฐบาลไม่ได้ประโยชน์ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มทุนการเมือง และ นักการเมือง

รัฐต้องไม่ลืมว่าสัญญาค่ายมือถือ เรียกว่าเป็นสัญญาร่วมการงาน หมายถึงการเป็นพันธมิตร หรือพาร์ตเนอร์ ร่วมกันทำงานให้บริการ แล้วมีรายได้มาแบ่งกันในลักษณะส่วนแบ่งรายได้ การแก้ไขสัญญาที่ผ่านมา ถ้ามีความผิดต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ต้องเรียกร้องจาก คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญ รัฐมนตรีที่กำกับดูแลในแต่ละช่วงของการแก้ไขสัญญา เพราะรัฐมนตรีมีหน้าที่นำเรื่องการแก้ไขสัญญาเข้ารายงานในครม.ตามพรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 การละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามพรบ.ร่วมทุนปี 2535 การไม่นำเข้าครม. เรียกได้ว่า เอกชนจะรู้เรื่องได้อย่างไร หรือจะไปบีบบังคับรมต.ให้นำเรื่องเข้าครม.ได้หรือไม่

การแก้ไขสัญญาครั้งที่ 5 ของเอไอเอสเกิดในปี 2543 ยุคที่มี 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' เป็นรมว.คมนาคม (ยุคนั้นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม) ซึ่งหากไล่เรียงความผิด วันนี้เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะมีเอี่ยวร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะไม่ได้นำเรื่องแก้สัญญารายงานครม.ให้รับทราบ ส่วนการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 (แก้ส่วนแบ่งรายได้พรีเพด) มีนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธานบอร์ดทีโอที กรรมการประกอบด้วยพล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ นายสรรเสริฐ วงศ์ชะอุ่ม นายวันชัย ศารทูลทัต พล.ต.ท.บุญฤทธิ์ รัตนะพร นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายสุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต และมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรมว.คมนาคมในขณะนั้น

ส่วนการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 7 (เรื่องโรมมิ่ง) มีนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยพล.อ.สมชัย สมประสงค์ นายกิตติ อยู่โพธิ์ นายธีระพงศ์ สุทธินนท์ นายสุรัตน์ พลาลิขิต นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายเข็มชัย ชุติวงศ์

การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแบบสุดโต่ง การฟ้องร้องผู้บริหาร บอร์ดและรมต.ที่เกี่ยวข้อง ต้องรวมเป็นโซลูชั่นเดียวกันที่รัฐไม่ควรเลือกปฏิบัติ หรือละเว้นหากเป็นพวกพ้อง หากรัฐเลือกเดินเส้นทางนี้ หายนะคงอยู่ไม่ไกล
กำลังโหลดความคิดเห็น