xs
xsm
sm
md
lg

กสท + ทรูมูฟ แชมป์คู่ 3G HSPA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดีลประวัติศาสตร์ - ศุภชัย เจียรวนนท์ (ที่ 2 จากซ้าย) กับจิรายุทธ รุ่งศรีทอง (ที่ 2 จากขวา) ในวันเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรธุรกิจมือถือระหว่างกสทกับกลุ่มทรู
ความเคลื่อนไหวตลอดช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเดือนแห่งการแสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ดุเดือดที่สุดก็ว่าได้ ตั้งแต่การประกาศขยายเครือข่ายของดีแทค ตามมาด้วย เอไอเอส ต่างทุ่มงบนับหมื่นล้านบาทในการบุกตลาดโมบายอินเทอร์เน็ตและขยายสถานีฐานในการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ที่ตนเองถือครองอยู่

ขณะที่ทรูมูฟ หลังอกหักจากการล้มประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHzเมื่อปีที่ผ่านมา จึงต้องขยับตัวหาช่องทางใหม่ในการต่อยอดธุรกิจ เพราะอายุสัมปทานที่มีอยู่ในมือจะหมดลงในปี 2556 และเมื่อมองไปในอุตสาหกรรมแล้วผู้ที่มีศักยภาพพอที่จะช่วยให้กลุ่มทรูหลุดพ้นบ่วงกรรมอายุสัมปทานที่เหลือเพียงน้อยนิดหนีไม่พ้นบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย (ฮัทช์) ซึ่งโอกาสเปิดกว้างสำหรับกลุ่มทรู หลังจากที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม ไม่สามารถปิดดีลซื้อฮัทช์ เพื่อแก้ปัญหาการดำเนินธุรกิจมือถือ CDMA ที่มี 2 เครือข่าย 2 แบรนด์ได้ จนถึงขั้นประกาศว่า มีแผนที่จะเปลี่ยนเทคโนโลยีมาใช้ HSPA หรือ 3G แทนให้สิ้นเรื่องสิ้นราว

'เมื่อซื้อฮัทช์ไม่ได้เราก็ถึงทางตัน เนื่องจากมีสัญญาการตลาดกับฮัทช์อีก 5 ปี ขณะที่เราก็มีแบรนด์ของเราเอง การทำตลาด 2 แบรนด์มีปัญหา โครงข่ายก็แยกกัน ใน 25 จังหวัดภาคกลางของฮัทช์มีศักยภาพทางธุรกิจสูง แต่อัปเกรดไม่ได้ ปล่อยให้เดินต่อไปถึงจุดจบของธุรกิจมือถือของกสท แน่นอน' จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดใจถึงปัญหาหนักอกของกสทในเวลานั้น

เมื่อทั้งทรูมูฟและกสท ต่างมีปัญหาในการทำธุรกิจมือถือ การหันหน้าเข้าหากันหาโซลูชั่นที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์จึงเกิดขึ้น และเป็นที่มาของดีลระหว่างกลุ่มทรูกับฮัทชิสัน ที่ใช้เวลาเจรจากว่า 4 เดือน

โดยทาง บริษัท เรียล มูฟ และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ บริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัทในกลุ่มฮัทชิสัน ประกอบไปด้วย บริษัท ฮัทชิสัน ไวร์เลส มัลติมีเดีย โฮลดิ้งส์ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) Rosy Legend Limited และ Prospect Gain Limited โดยทางฝ่ายกลุ่มบริษัทฮัทชิสันได้ทำการเคลียร์หนี้สินระหว่างกลุ่มบริษัทที่ซื้อขายกัน ซึ่งมีการประเมินว่า มูลค่าการซื้อในครั้งนี้ประมาณ 6,300 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มทรูได้ลงนามในสัญญากับกสททั้งหมด 4 ฉบับ โดย 2ฉบับแรกเป็นสัญญาโอนถ่ายลูกค้าที่ใช้ระบบโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ แบ่งเป็นสัญญาดูแลลูกค้าเพื่อถ่ายโอนไปยังเทคโนโลยี HSPA และสัญญาดูแลโครงข่ายเดิมในระบบ CDMA ซึ่งเป็นสัญญาที่มีอายุ 2ปี และสัญญาอีก 2 ฉบับจะเป็นสัญญาให้ดำเนินการธุรกิจระบบโทรศัพท์มือถือ3G แบ่งเป็นสัญญาเช่าใช้อุปกรณ์บางส่วนในการใช้บริการเครือข่าย และสัญญาขายส่ง-ขายปลีก ซึ่งเป็นสัญญาที่มีอายุ 15 ปี การเข้าซื้อฮัทช์ ของทรูมูฟแทน กสทในครั้งนี้ ถือเป็นดีลตอบโจทย์ของทั้งฝ่ายทรูมูฟและกสท ได้อย่างลงตัว โดยมีโมเดลการทำธุรกิจในลักษณะที่ทางกสท จะเป็น Network Companyลงทุนในส่วนเครือข่ายหลัก และเป็นผู้ขายส่งความจุของเน็ตเวิร์ก ขณะที่ทรูจะเป็น Operation Company และเป็นผู้ขายปลีกแทน

ผลประโยชน์ที่เกิดกับ กสท.โทรคมนาคม จากดีลนี้ จะทำให้ กสท ประหยัดเงินจากการซื้อกิจการฮัทช์ได้ถึง 6,300 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบลงทุนในการขยายปรับปรุงเครือข่าย HSPA ในลักษณะ Operation Companyที่กสท เป็นผู้ลงทุนเครือข่ายหลัก ขณะที่ทรูจะเป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์เครือข่ายในส่วนนี้ให้ประมาณ 5-6 พันล้านบาท ประมาณ 3,000 สถานีฐาน

โดยกสทจะทำการเช่าอุปกรณ์จากทรูแทน และเป็นผู้ดูแลการขายส่งให้กับบริษัทผู้สนใจนำไปขายต่อ ใกล้เคียงกับโมเดล MVNO ของTOT 3G ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทำให้กสทมีความคล่องตัวในการขยายเครือข่ายมากขึ้นเมื่อเทียบกับการที่กสท ต้องลงทุนเองที่มีขั้นตอนในการดำเนินการมากและใช้เวลานาน

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การลงทุนในช่วงแรกเพื่อพัฒนาสถานีฐานให้รองรับการใช้งาน HSPA จะใช้เงินลงทุนราว 5-6 พันล้านบาท บนสถานีฐานเดิมที่ให้บริการ CDMA ประกอบด้วยฟากฮัทช์ที่ครอบคลุมส่วนกลาง 25 จังหวัด และอีก 51 จังหวัดในส่วนภูมิภาคจากทาง กสท รวมกัน 3,000สถานีฐาน

'โมเดลนี้ กสท เป็นคนลงทุนโครงข่ายหลัก เป็นคนประกอบอุปกรณ์โครงข่าย ทรูลงทุนอุปกรณ์และบำรุงรักษาจนหมดสัญญา 14 ปี เมื่อหมดสัญญา ก็มีออปชั่นให้กสทเลือกว่าจะซื้ออุปกรณ์ในราคาตามมูลค่าบัญชีได้'

ด้านจิรายุทธเห็นว่าการที่ กสท เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนบริษัทเอกชน ทำให้ต้องไปโฟกัสในจุดแข็งของตนเองคือ เน็ตเวิร์ก ตัวสถานีฐาน ตัวทรานมิชชัน (ระบบสื่อสัญญาณ) ที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีฐานเข้าด้วยกัน ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็น 3G ,4G หรือ WiMax ในอนาคต ก็แค่อัปเกรดอุปกรณ์ให้รองรับแบนด์วิธที่โตขึ้นเท่านั้นเอง

ส่วนประเด็นรายได้ของ กสทที่หลายฝ่ายมองว่าจะเสียเปรียบกลุ่มทรูนั้น จิรายุทธเห็นว่าไม่น่าเป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อกสทเห็นว่ากลุ่มทรูตกลงซื้อฮัทช์ได้ ก็เลยเริ่มต้นคิดค้นรูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่งต้องเป็นรูปแบบที่ไม่ขัดกับสิ่งที่กสทช.จะประกาศในอนาคต โดยกสทจะพิจารณาจากรูปแบบการให้บริการที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศแล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับจุดแข็งของแต่ละคน และในจุดนี้จะทำให้กสท มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 35-38% จากการที่กลุ่มทรูต้องมีการนำส่งรายได้ในส่วนค่าเช่า และการทำตลาด

จิรายุทธ ยังย้ำว่าการลงนามในสัญญาระหว่างกสทกับกลุ่มทรูนั้นไม่เข้าข่ายพรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2535เพราะเป็นการทำสัญญาที่ให้ทรูเช่าใช้อุปกรณ์บางส่วนไม่ใช่เช่าเน็ตเวิร์ก เพราะกสทยังคงเป็นผู้บริหารจัดการเน็ตเวิร์กและได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย รวมทั้งมีมติอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ให้ลงนามได้ทันที
หากอัยการตรวจสอบหนังสือลงนามแล้วเสร็จ

'หลังหนังสือสัญญาผ่านการตรวจสอบของอัยการสูงสุด ผมจึงรีบลงนามสัญญาทันทีเพื่อหยุดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กสท เนื่องจากสัญญาที่ทำกับฮัทช์ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ แต่การทำสัญญากับทรูจะทำให้มีรายได้จากสัมปทานที่เคยขาดทุนปีละ 1,000 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นกำไรทันทีปีละ 2,000 ล้านบาท'

สำหรับผลประโยชน์ด้านกลุ่มทรูที่ได้รับ ประการแรก ก็คือ เป็นทางออกสำคัญของกลุ่มทรูในการปลดล็อกสัญญาสัมปทานเดิมบนเทคโนโลยี 2G ที่เหลือเพียง 2 ปี โดยจะได้รับสิทธิเป็นผู้ให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์มือถือบนเทคโนโลยี HSPA ของกสท เป็นระยะเวลา 14 ปี เท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาในการให้บริการโทรศัพท์มือถือของทรูมูฟออกไปทันที แทนที่จะต้องรอลุ้นการเปิดประมูลโทรศัพท์มือถือ 3G คลื่นความถี่ 2.1 Ghzจากกสทช.ที่ยังไม่รู้อนาคตว่าจะเริ่มได้เมื่อไร

ประการที่สอง เท่ากับเป็นการเพิ่มฐานผู้ใช้บริการและรายได้จากฮัทช์ที่มีรายได้ 4,300 ล้านบาทต่อปี มีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 8 แสนราย ซึ่งทรูจะรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เลย และยังมีสถานีฐานอีก 1,400 สถานีฐาน ภายใต้เทคโนโลยี CDMA ในส่วนกลาง 25 จังหวัด ที่สามารถพัฒนาเป็นเทคโนโลยี HSPA ได้ ซึ่งทำให้ทรูมูฟมีเครือข่ายรองรับการเติบโตของโมบายอินเทอร์เน็ตได้เร็วกว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น