xs
xsm
sm
md
lg

“จุติ” ตอบกระทู้ พท. ย้ำ กม.รองรับทรูซื้อฮัทช์ คลื่นความถี่ยังเป็นของ กสท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสาร (แฟ้มภาพ)
“เพื่อไทย” ถามนายกฯ ให้ทรูซื้อหุ้นฮัทช์หวังทำ 3 จี โดยไม่ต้องประมูลหรือไม่ “จุติ” ยัน กสท ไม่มีเงื่อนงำให้ทรูซื้อ ย้ำกฎหมาย-กทช.-กฤษฎีการับรอง คลื่นความถี่ยังเป็นของรัฐ ชี้ประหยัดงบได้เพียบ

วันนี้ (3 ก.พ.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.ระบบสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกรัฐมนตรี ถึงระบบโทรศัพท์ 3 จี ว่าคลื่นโทรศัพท์เป็นเรื่องสำคัญเป็นทรัพยากรของชาติ ใครก็ตามที่ได้สัมปทานคลื่นผู้นั้นจะเป็นมหาเศรษฐีในทันที เพราะคลื่นที่ใช้กับการสื่อสารทำให้หลายคนร่ำรวยขึ้นมาอย่างกะทันหัน เรื่องคลื่นความถี่ 3 จี มีปัญหาเริ่มตั้งแต่การประมูลโดยศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ระงับการประมูล เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้อาจเพราะเป็นเรื่องที่มีปผลประโยชน์มหาศาล

นายประเกียรติกล่าวอีกว่า เดิมการบริการคลื่นความถี่มีคณะกรรมการบริหาร โดยมี 2 หน่วยงานของรัฐ คือ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ได้รับคลื่นความถี่ในดำเนินการโดย กสท.ได้ทำสัญญาร่วมการงานกับเอกชนให้การ ใช้คลื่นความถี่ในการให้บริการ ในส่วนของ กสท.ต่อมาเปลี่ยนเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุมติคลื่นความถี่ 2 ช่วง คือ 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดย กสท ได้ทำสัญญาร่วมการงานกับบริษัทเอกชน อาทิ บริษัทดีแทค บริษัททรูคอปเปอเรชั่น ฯลฯ ต่อมาช่วงความถี่ 850 ซึ่งเป็นแอนะล็อกเสื่อมความนิยมไป และต่อมาบริษัท กสท ได้มอบให้บริษัททรูมูฟไปพัฒนาเครือข่าย 3 จี โดยกำหนดพื้นที่ให้บริการและอุปกรณ์ บริการครั้งนี้เป็นการทดสอบบริการที่ยังไม่ให้บริการเชิงพาณิชย์ ต่อมาบริษัททรูมูฟทำผิดเงื่อนไขโดยมีการให้บริการเชิงพาณิชย์ มีการขยายพื้นที่และติดตั้งอุปกรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาต คณะกรรมการของบริษัท กสท จึงมีมติให้บริษัททรูมูฟ ยกเลิกบริการและถอนอุปกรณ์ออก รวมถึงให้ดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ศ. 2498 แต่ปรากฎว่าบริษัททรูมูฟกลับไม่หยุดการให้บริการ โดยมีการโหมโฆษณาว่าเป็นผู้พัฒนาเครือข่าย 3 จี รายแรก และให้บริการทั่วประเทศ จึงอยากถามว่าเมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาดูแล รมว.ไอซีทีได้ดำเนินคดีต่อบริษัททรูมูฟอย่างไร

ด้าน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่า จุดมุ่งหมายการพัฒนาเครือข่าย 3 จี คือการยกระดับโครงข่ายการสื่อสารของประเทศ ปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายต้องการสร้างโอกาสให้กับประชาชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนผ่านบริการบรอดแบนด์แห่งชาติ การทำ 3 จี ยังจะช่วยลดช่องว่างทางดิจิตอลของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ส่วนประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดให้ความคุ้มครองการประมูลใบอนุญาต 3 จี รัฐบาลรู้สึกตกใจเพราะต้องการสนับสนุนให้เกิด 3 จี ที่ผ่านมาก่อนการระงับการประมูลไม่มีใครสนใจบริษัท กสท หรือบริษัททีโอที มีแต่มุ่งพัฒนาเครือข่าย 3 จีของตัวเอง บริษัท กสท และบริษัท ทีโอที จึงไม่ได้รับความสนใจ แต่พอการประมูลชะงักทุกคนจึงหันกลับมามองบริษัท กสทฯ และบริษัท ทีโอที

นายจุติกล่าวอีกว่า วันนี้ผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย คือ เอไอเอส, ดีแทค, ฮัทช์, ทรูมูฟ, กสท และทีโอที อยากเป็นคนแรกที่ให้บริการ 3 จี เพื่อแย่งฐานลูกค้า ปัญหาการทำผิดกฎหมายของ บ.ทรูมูฟ เมื่อสอบถามจากฝ่ายกฎหมายของ กสท ได้รับรายงานว่าเป็นการติดตั้งอุปกรณ์นอกเขตพื้นที่ที่อนุญาต โดยบริษัทฯ ได้แจ้งไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และบ.ทรูมูฟแล้ว ทางบริษัทฯ ได้ทำการถอดอุปกรณ์นอกเขตพื้นที่ออกแล้ว การดำเนินการจากนี้จึงอยู่ที่ กทช.จะดำเนินการเอาผิดต่อบริษัททรูมูฟอย่างไรต่อไป

นายประเกียรติถามต่อว่า กรณีที่ ครม.ในอดีตอนุมัติให้ กสท ซื้อหุ้นของ บ.ฮัทชิสัน ซีเอทีไวส์เลสมัลติมีเดีย (ฮัทช์) มูลค่า 7,500 ล้านบาท ส่งผลให้ กสท ซึ่งให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่แล้วใน 51 จังหวัด ได้พื้นที่ให้บริการของฮัทช์ที่ได้รับอนุญาตให้บริการใน 25 จังหวัด ทำให้ สามารถให้บริการทั่วประเทศได้ ต่อมาในสมัยรัฐบาลนี้นายจุติกลับมีนโยบายว่า การซื้อหุ้นฮัทช์ของ กสท ไม่คุ้มค่า และให้ บ.ทรูมูฟทำสัญญาซื้อกิจการของฮัทช์ในมูลค่าใกล้เคียงกัน เมื่อเทคโอเวอร์ฮัทซ์แล้วบ.ทรูมูฟได้ทำสัญญากับกสท.จำนวน 4 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) โดยไม่เปิดเผยสัญญาอ้างว่าเป็นความลับ จึงอยากทราบว่าการทำสัญญาระหว่าง บ.ทรูมูฟ กับ กสท 4 สัญญา มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อทำให้ทรูมูฟได้คลื่นความที่ไปให้บริการ 3 จี โดยไม่ต้องประมูลใบอนุญาต 3 จี ใช่หรือไม่ ประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้รับจะขาดหายไป ในส่วนนี้รัฐบาลใช้กฎหมายอะไร และที่เคยมีการให้สัมภาษณ์ของ รมว.ไอซีทีว่าไม่ได้รับทราบเรื่องนี้เป็นความจริงแค่ไหน

นายจุติกล่าวว่า กรณี ครม.อนุมัติให้บริษัท กสท ซื้อหุ้น บ.ฮัทช์ ในราคา 7,500 ล้านบาทนั้นเป็นความจริง โดยมีการอนุมัติตั้งแต่ปี 2552 โดยก่อนการอนุมัติมีการเตรียมการมาก่อนหน้านานมากก่อนการศึกษา ต่อมาตนมารับตำแหน่งในปี 2553 ก็มีความเห็นว่า กสท ไม่ควรซื้อกิจการฮัทช์ หรือหากจะซื้อควรซื้อในราคาถูก มีเหตุผล 2 ประเด็น คือ สภาพแวดล้อมทางการแข่งขันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง เนื่องจากระบบซีดีเอ็มเอของฮัทช์ไม่มีอนาคต เพราะผู้ผลิตอุปกรณ์ซีดีเอ็มเอในโลกนี้เหลือแค่ร้อยละ 10 ส่วนใหญ่การพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารจะเป็นระบบ 4 จี โดยใช้เทคโนโลยีเอสเอชพีเอ ในเชิงพาณิชย์จึงเป็นการโง่มากที่ กสท จะไปซื้อหุ้นบริษัทที่ให้บริการซีดีเอ็มเอ แต่ควรเปลี่ยนไปลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเอสเอชพีเอ

ส่วนการเซ็นลงนามในสัญญา ขอยืนยันว่าไม่มีเงื่อนงำ ไม่ได้สลับซับซ้อน ตนได้รับรายงานจากประธานกรรมการและฝ่ายบริหารของ กสท ว่าคลื่นความถี่ยังเป็นของ กสท ไม่ได้ให้ บ.ทรูมูฟ และ กสท เป็นผู้ให้บริการขายส่งอยู่ กสท ไม่ได้ให้สัมปทาน นอกจากนี้ยังมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สนับสนุน และประกาศ กทช.ชัดเจน การดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ หาก กสท ลงทุนซื้อฮัทช์ 7,500 ล้านบาท จะต้องลงทุนอีก 3,800 ล้านบาทในการเปลี่ยนเครือข่ายเป็นเอสเอชพีเอ โดยรวมทำให้รัฐบาลต้องลงทุนอีกอย่างน้อย 11,300 ล้านบาท แต่รัฐบาลได้ประหยัดเงินงบประมาณโดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนแทนที่จะต้องลงทุนเอง โดยการลงทุนโดยเอกชนจะทำให้รัฐได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้เต็มที่

“ขอยืนยันว่าประโยชน์ที่ กสท ได้รับจากการทำสัญญามีมากกว่าระบบสัมปทาน โดยจะทำให้รัฐนำเงินที่ต้องลงทุนไปพัฒนาบริการภาครัฐที่มีประโยชน์ด้านอื่นแทน” นายจุติกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น