สัปดาห์ที่ผ่านมาเรานำเสนอช่องทางทำเงินบนโลกไอทีแก่ธุรกิจหลากประเภท สัปดาห์นี้ถึงคิวของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่หลายคนตั้งคำถามว่า สื่อสิ่งพิมพ์จะนำไอทีมาใช้ในการสร้างรายได้เพิ่มได้อย่างไร? บทความนี้จะตีแผ่งานไอทีที่สื่อประเภทหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยลงมือทำไปแล้ว และสิ่งที่ไม่ควรละเลยที่จะรีบทำในอนาคต เพื่อให้ นสพ.ไทยไม่ต้องพบกับวิกฤตเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ
***ถ้านสพ.หาโมเดลสร้างรายได้ใหม่ไม่ได้ นสพ.อาจสูญพันธุ์ใน 15 ปี
(โดย ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย บก. นิตยสาร GMBiZ และ MKT Magazine)
จำได้ว่ากว่าสามปีมาแล้วที่ผมถามอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ในงานแถลงข่าวการซื้อหุ้นใหญ่มติชนและบางกอกโพสต์ว่า "ทำไมแกรมมี่ที่อยู่ในธุรกิจ High Margin ถึงคิดกระโดดเข้าสู่ Sunset Industry อย่างธุรกิจสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นมีมาร์จิ้นต่ำอย่่างยิ่ง อีกทั้งเมื่อเทกโอเวอร์หนังสือพิมพ์ไปแล้ว หากผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการเก๋าๆออกไปหมด ก็จะเหลือแต่ตัวตึก อาคารหรือโรงพิมพ์ ซึ่งเปรียบเสมือนมีร่างกายที่ไร้วิญญาณ
ผ่านมาสามปีเศษ ชะตากรรมของธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์นั้นน่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะหากดูจากทิศทางและแนวโน้มจากนี้ไปแล้วอาจกล่าวได้ว่า "หนังสือพิมพ์กำลังจะสูญพันธุ์" เพราะการเติบโตของอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายหนังสือพิมพ์ตกลงอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ก็สองจิตสองใจว่าจะเอาอย่างไรกับอินเตอร์เน็ตกันดี เพราะก่อนหน้านี้ผู้บริหารค่ายหนังสือพิมพ์ไม่เคยมีค่ายไหนเลยที่จะมียุทธศาสตร์อินเตอร์เน็ต ยกเว้นก็แต่เพียงค่ายผู้จัดการที่ thaiday.com ทุ่มทรัพยากรเต็มที่กับการปั้น manager.co.th ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มุทุนเมื่อใด รู้แต่เพียงว่าเทรนด์กำลังมา ถ้ากระโดดเข้าไปเกาะเทรนด์ก่อนคนอื่น ชัยชนะก็อยู่แค่เอื้อม!!!
หลังจาก manager.co.th ก้าวเดินอย่างเต็มรูปแบบก่อนจนกระทั่งกลายเป็นเบอร์หนึ่งในเว็บข่าว ส่งผลสะเทือนต่อเว็บหนังสือพิมพ์อื่นๆที่ทำแบบมีเพื่อมี ไม่ได้มีเพื่อเป็นยุทธศาสตร์แต่อย่างใด ในที่สุด Manager Online ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการมียุทธศาสตร์อินเตอร์เน็ตที่แจ่มชัดนั้น สามารถผลักให้ตนเองเป็นผู้นำในโลกออนไลน์ได้ แม้ว่าโลก Off Line จะประสบความพ่ายแพ้ก็ตาม
ความสำเร็จของ Manager Online ส่งผลสะเทือนต่อยักษ์หนังสือพิมพ์ค่ายๆต่างอย่างยิ่งและเป็นการตอกย้ำ "ยุคสมัยใหม่" กำลังก้าวมาถึงแล้ว
ในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงสองปีหลังหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าต่างทยอยปิดตัวกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตามรัฐต่างๆในสหรัฐอเมริกา เนื่องเพราะคนอ่านและโฆษณาน้อยลงอย่างน่าใจหาย จนกระทั่งขาดทุนกันอย่างหนัก
รูเพิร์ต เมอร์ด็อกซ์ เจ้าพ่อหนังสือพิมพ์ที่ล่าสุดไปซื้อ Wall Street Journal ด้วยราคาแพงหู่ฉี่ ถึง 5 พันล้านเหรียญ ทั้งๆที่ตระกูลเจ้าของไม่อยากขาย แต่สุดท้ายก็เทคโอเวอร์มาจนได้
เมอร์ดอกซ์นั้นเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่ก็ไม่มีฉบับไหนที่ Prestige เลย ดังนั้นการอยากเป็นเจ้าของ Wall Street Journal คือความปรารถนาลึกๆอยู่ในใจ
Wall Street Journal มีความเหนือกว่าหนังสือพิมพ์อื่นๆก็คือ ฉบับออนไลน์นั้นมีสมาชิกที่เสียเงินรายเดือนหรือรายปี มีสมาชิกนับล้านและเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ตอนแรกเมอร์ดอกซ์เชื่อในโมเดลฟรี เขาต้องการให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึง WSJ ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น เช่น New York Time เคยให้ดูฟรีแล้วต่อมาเก็บสตางค์ แต่ก็ได้ไม่มาก หลายฉบับเวอร์ชันออนไลน์คนอ่านกันเยอะ แต่พอจะเก็บสตางค์มีไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมเสียสตางค์ เพราะเคยได้ฟรี
อีกเหตุหนึ่งก็คือ Google รวบรวมข่าวสารจากสำนักต่างๆทั่วโลกให้อ่านฟรีกันอยู่แล้ว
นโยบายฟรีเช่นนี้ทำให้เมอร์ดอกซ์ฉุนขาด เพราะไม่เพียงทำให้เสียรายได้ แต่จะทำให้ผู้อ่านเสียนิสัย คิดว่า Content ก็คือของฟรี ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน ผลก็คือเมอร์ดอกซ์ลุกขึ้นมาประกาศว่าเขาจะประกาศให้โลกรู้ว่า "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" โดยทุบไปที่ "เจ้าพ่อของฟรี" คือ Google เพราะหากชนะ Google ได้ก็เท่ากับว่าทุบไปที่หัวใจ "ของฟรี"
เมอร์ดอกซ์ต้องการทำถึงขนาดที่ว่าไม่ให้ Google Search หาหนังสือพิมพ์ในเครือของเขาในเว็บ Google และต้องการทำพันธมิตรกับ Bing ซึ่ง Google ก็ไม่ขัดข้อง แต่ทว่าในทางกฎหมายอาจไม่อนุญาตให้เมอร์ดอกซ์ทำเช่นนั้น จนป่านนี้เมอร์ดอกซ์ก็ยังไม่สามารถพิชิต Google ได้ ส่วน Google นั้นก็เปิดศึกกับชาวบ้านไปทั่ว ตั้งแต่รัฐบาลจีน ไมโครซอฟท์ จนกระทั่งแอปเปิลอดีตพันธมิตรเก่าที่ปัจจุบันรบกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
ในระดับโลกนั้น ยังไม่มีวิธีแก้วิกฤตของหนังสือพิมพ์อย่างเป็นรูปธรรม ยอดผู้อ่านเวอร์ชันกระดาษตกลงไปเรื่อยๆ โฆษณาลดลงโดยเฉพาะ Classified AD หน้าสมัครงาน แทบจะไม่เหลือเลย รายได้จากโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต ในรูปแบบ Display AD ก็ไม่สามารถชดเชยได้ ชะตากรรมของหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศก็คือนสพ.ท้องถิ่นค่อยๆทยอยปิดตัวไป เพราะคนจะอ่านทางเน็ตเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหนังสือพิมพ์ระดับโลกNew York Times Financial Time Wall Street Journal ฯลฯ ยังพอประคับประคองตัวเองอยู่ได้ แม้ว่าธุรกิจจะค่อยๆเหี่ยวไปเรื่อยๆก็ตาม
จวบจนกระทั่งสตีฟ จ๊อบส์ แห่งแอปเปิลได้ให้ความหวังด้วยการเปิดตัว iPad(ไอแพด) Tablet PC ซึ่งว่ากันว่าเจ้าไอแพดตัวนี้แหละจะช่วยชุบชีวิตหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่กำลังจะตายให้ฟื้นคืนชีกขึ้นมาได้ เพราะโฆษณาจะบรรจุอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งต่างจากอินเตอร์เน็ตเวอร์ชั่นที่ไม่สามารถแทรกโฆษณาไปได้
ก่อนที่จะเลยไปไกล ขอกลับมาที่ตลาดประเทศไทย
ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา คนอ่านหนังสือพิมพ์ค่อนข้างน้อย ถ้าให้เลือกระหว่างอ่านหนังสือพิมพ์และดูข่าวทีวีซึ่งส่วนใหญ่ก็เอาหนังสือพิมพ์มาอ่านนั่นเอง คนไทยส่วนใหญ่จะเลือกดูทีวีมากกว่า นี่คือเหตุสำคัญที่ทำให้นักเล่าข่าวอย่างสรยุทธ์ซึ่งก็เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มาก่อน จะมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากกว่าบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์รายวัน
ชะตากรรมของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับต่างประเทศมากนัก นั่นคือคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงไปทุกวัน หนทางในการหารายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำของหนังสือพิมพ์ก็คือการผลิตข่าวสั้นผ่านเอสเอ็มเอส ส่วนใหญ่เก็บเดือนละ 39 บาท ไทยรัฐ โพสต์ทูเดย์ มติชน ผู้จัดการ ฯลฯ ต่างให้บริการแบบนี้กันทุกค่าย ผลก็คือจากเดิมรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เมื่อทุกค่ายทำกัน ทั้งทีวี สำนักข่าวต่างๆ ซึ่งก็หมายความว่าต่างแย่งเค้กก้อนเดียวกัน
ในด้านเว็บไซด์ดังที่ได้เกริ่นมาแล้วเช่นกันว่า เพิ่งจะมีการทำอย่างจริงๆจังกันไม่กี่ที่ผ่านมานี้เอง ค่ายผู้จัดการทุ่มเทอย่างเต็มที่กับ manager.co.th แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ทว่ายอดขายหนังสือพิมพ์ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย หมายความว่าผู้อ่านเลือกเสพผ่าน Manager Online มากกว่าจะเสพผ่านกระดาษ เท่ากับว่าได้อย่างเสียอย่าง
นโยบายของผู้จัดการนั้นให้อ่านทุกอย่าง ไม่มีการปกปิด ไม่ให้นักท่องเน็ตอ่าน เพราะยิ่งมีคนอ่านก็หมายความว่าโฆษณาจะเข้ามากยิ่งขึ้น ขณะที่ค่ายกรุงเทพธุรกิจที่เคยให้อ่านฟรีเหมือนกับผจก.นั้น เริ่มไม่ให้อ่านเวอร์ชั่นกระดาษบนหน้าอินเตอร์เน็ตอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่คัดสรรบางข่าวให้อ่านเท่านั้น เช่นเดียวกับมติชนที่ไม่ให้อ่านฉบับกระดาษบนหน้าอินเตอร์เน็ตอีกต่อไป มีเพียงบางเท่านั้นที่เปิดให้ดูฟรี
โพสต์ทูเดย์ไม่สนใจเวอร์ชั่นอินเตอร์เน็ตเสียด้วยซ้ำ มีให้อ่านเพียงวันเดียวและไม่ให้อ่านย้อนหลัง ต่อมาโพสต์ทูเดย์ยอมรับแล้วว่าเวอร์ชั่นอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญ ก็ปรับปรุงหน้าเว็บไซด์ ทำให้ดูดีมากยิ่งขึ้นแต่หาข่าวอ่านยากขึ้นทุกวันเช่นกัน
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับค่ายใหญ่เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าอินเตอร์เน็ตส่งผลกระทบต่อโมเดลการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์แบบดั้งเดิม ดังนั้นแต่ละค่ายจึงฉีกไปทำ Multimrdia ทุกค่ายต่างมีสื่ออื่นๆผสมเข้ามาเพื่อความอยู่รอด เนชั่นทำวิทยุ ทีวี เช่นเดียสกับโพสต์ ไม่ต้องพูดถึงค่ายผจก.ที่มีเอเอสทีวีก่อนหน้านั้นแล้ว
คำถามก็คือเกิด Synergy ระหว่างสื่อต่างๆกระนั้นหรือ
ฝ่ายทีวีกับหนังสือพิมพ์อาจจะคุยกันไม่ลงตัว แต่ทว่าในอุดมคติแล้วการมีทุกสื่อไว้ในมือจะทำให้น้ำหนักในการเจรจาต่อรองมีมากกว่ามีสื่อเพียงชนิดเดียว
กระทั่งสื่อทางสังคมเช่น FaceBook Twitter สื่อหลักเหล่านี้ก็กระโจนเข้ามาโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายเดอะเนชั่นเอาจริงเอาจังกับ twitter อย่างมาก เพราะเป็นช่องทางในการกระจายข่าวสารของทางค่ายตนและยังสามารถนำไปบูรณาการกับสื่อดั้งเดิมที่ตนมีอยู่ เพื่อเสนอเป็น Solution เมื่อเวลาไปนำเสนอต่อลูกค้า
กล่าวโดยสรุปการดิ้นสู้กับอินเตอร์เน็ตโดยการผนวกตนเองเข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือการนำเทคโนโลยีอื่นเข้ามาใช้เพื่อหวังเพิ่มรายได้นั้น ในทางความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่เห็นเป็นรูปธรรมในเชิงรายได้เท่าใดนัก
และหากจะมีก็ไม่สามารถมาทดแทนต่อรายได้โฆษณาที่หายไปจากเวอร์ชันกระดาษได้ อนาคตของหนังสือพิมพ์เมืองไทยจึงค่อนข้างมืดมนนัก
ครั้งจะให้ไอแพดมาเป็นเครื่องมือชุบชีวิตนั้นในต่างประเทศก็ยังเป็นปัญหาว่าผู้คนทั่วโลกจะหันมาอ่านหนังสือพิมพ์บนไอแพดกันหรือเปล่า หากไม่อ่านแล้วจะทำกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายหนังสือพิมพ์เล็กๆ ก็จะอยู่ไม่ได้ในที่สุด แต่ทว่าบางค่ายก็พออยู่ได้แม้ว่าจะถูกกกดดันอย่างหนักก็ตาม
สุดท้ายในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์จะอยู่ได้ก็แต่เพียงยักษ์ใหญ่ 1-3 ในแต่ละหมวดหมู่เท่านั้น ที่เหลืออาจต้องค่อยๆทยอยปิดตัวลงไปในที่สุด เพราะทนแรงกดดันที่สูงเพิ่มขึ้นทุกวันไม่ไหว
ท้ายของท้ายที่สุด ถ้ายังไม่มีโมเดลที่จะตอบโจทย์ในเรื่องการเหนี่ยวรั้งการล่มสลายของอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษก็กำลังจะสูญพันธุ์