xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์จวกรัฐเลิกทำอี-ออกชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์อัดรัฐบาล ยกเลิกการประมูลแบบอี-ออกชัน 3 สินค้า กลุ่มเอกชนเสียผลประโยชน์เป่าหูรัฐให้ถอยหลังลงคลองกลับไปใช้แบบยื่นซอง ส่งสัญญาณการฮั้วประมูล เตือนรัฐระวังโครงการไทยเข้มแข็งพังทั้งประเทศ

กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 12 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พันธวณิช บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท ป๊อป เนทเวอร์ค บริษัท บีส ไดเมนชั่น บริษัท ดาต้าแมท บริษัท ซอฟแวร์ลิ้งค์ บริษัท ฟรีอินเตอร์เน็ท บริษัท อินเทลลิเจนท์ โซลูชั่น แอนด์เซอร์วิส บริษัท นิวตรอน การประมูล บริษัท สเปซไวร์ บริษัท สวนกุหลาบ เซอรารี่ชีล และบริษัท ไอ ซี เอ็น ซิสเต็ม ออกโรงอัดรัฐที่ยกเลิกการประมูลแบบอี-ออกชัน หันไปใช้แบบยื่นซองประกวดราคา

การออกมาครั้งนี้ของผู้ประกอบการดังกล่าว เนื่องจากในเดือนพ.ค. 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหา (กรอ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้รับข้อเสนอของคณะทำงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประเมินผลการบังคับใช้ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ 2549

โดยตัวแทนภาคเอกชนเสนอให้ยกเลิกการใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอีออกชั่นกับสินค้า 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.งานประมูลก่อสร้างซึ่งเป็นเอกสารบัญชีแสดงรายการวัสดุและปริมาณสินค้า(Bill of Quantity: BOQ) ที่มีหลากหลายรายการในโครงการเดียวกัน 2.งานประมูลจัดซื้อประเภทสินค้าและบริการสินค้าเทคโนโลยี 3.งานการประมูลจัดซื้อพัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น สินค้าเวชภัณฑ์ และ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น

ภาคเอกชนอ้างว่าระเบียบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประมูลงานของภาคเอกชน เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินงานตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันทำให้การดำเนินงานของแต่ละโครงการเกิดความล่าช้า ทำให้ผู้เสนอราคาไม่สามารถเสนอสินค้าหรือบริการที่ดีกว่า TOR ได้เพราะระบบอี-ออกชันจะยึดราคาต่ำสุดเป็นเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐได้รับงานที่ไม่มีคุณภาพจากการประมูล และยังทำให้เกิดปัญหาผู้ชนะการประมูลทิ้งงาน โดยตัวแทนภาคเอกชนเสนอให้มีการการทบทวนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันในด้านราคาและคุณภาพซึ่งจะให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดราคากลางที่ถูกต้องและสะท้อนราคาที่แท้จริง

ในเดือนพ.ค.และต.ค. 2552 ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตลอดจนหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ กรอ. โดยทางกรมบัญชีกลางแจ้งในที่ประชุมว่าได้นำประเด็นดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนและผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และได้ออกมาตรการผ่อนผัน 6 มาตรการ เพื่อให้การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหา 4 แนวทางเกี่ยวกับสถานที่เสนอราคาประมูล การลดมูลค่าของหลักประกัน การลดระยะเวลาเผยแพร่ TOR และ การดำเนินการหากมีการอุทธรณ์

ในที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ล่าสุด ตัวแทนภาคเอกชนมีมติไม่เห็นด้วยและยืนกรานให้ยกเลิก ระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ 2549 กับสินค้า 3 กลุ่มและเสนอให้ภาครัฐกลับไปใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 โดยใช้รูปแบบของการยื่นซองประกวดราคาแทน โดยภาครัฐมีแนวโน้มที่จะโอนอ่อนและดำเนินการตามที่ตัวแทนเอกชนเสนอ

กลุ่มผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบหรือผลเสียที่จะเกิดกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐ หากดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยรูปแบบของการยื่นซองประกวดราคา 1.งบประมาณปกติที่ใช้จัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินประมาณ 2.5 – 3 แสน ล้านบาท ซึ่งระบบอี-ออกชันสามารถสร้างอัตราประหยัด 15,000 – 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6-7% ของงบประมาณ

2.สินค้าใน 3 กลุ่มนี้มีมูลค่ารวมคิดเป็น 98 % ของงบประมาณ ซึ่งหากภาครัฐไม่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชัน ภาครัฐจะสูญเสียงบประมาณที่ควรจะประหยัดได้เกือบ 20,000 ล้านบาท 3.งบไทยเข้มแข็ง 1.56 ล้านล้านบาท ที่ได้รับการจัดสรรในรอบแรกระหว่างเดือนก.ย.-ต.ค. จำนวน 0.20 ล้านล้านบาท หากดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันประมาณ 70-80% ภาครัฐจะประหยัดงบประมาณได้เกือบ 60,000 ล้านบาท 4.หากภาครัฐไม่มีกลไกการบริหารงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ และหันกลับไปใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ผลเสียที่จะเกิดขึ้น คือ การบริหารจัดสรรงบประมาณไม่โปร่งใส ไม่สามารถตรวจสอบได้ เกิดการกีดกันการเข้าเสนอราคาในหมู่ผู้เข้าร่วมประมูลงานการสมยอมราคาประมูล การฮั้วงาน ตลอดจนการล็อคสเปกงาน

นายปิยะ พิริยะโภคานนท์ กรรมการผู้จัดการ นิวตรอน การประมูล กล่าวว่า การที่ภาคเอกชนพยายามผลักดันรัฐให้กลับไปใช้ระบบการยื่นซองประกวดราคาเพราะ 1.รูปแบบการประกวดราคาด้วยระบบการยื่นซองสามารถเข้าสู่กระบวนการสมยอมราคาทั้งระบบได้ง่าย และควบคุมผู้เสนอราคาทุกรายได้ง่าย 2.สามารถเปลี่ยนแปลงเอกสารระหว่างกระบวนการได้ตลอดทั้งกระบวนการ 3.ผู้มีอิทธิพลสามารถดำเนินการกีดกันผู้ค้าที่ไม่สมยอมราคาได้ง่าย 4.เปิดโอกาสให้หน่วยงานสามารถต่อรองกับผู้ค้าที่ต้องการ 5. ภาคเอกชนไม่ต้องการสูญเสียผลประโยชน์ เพราะการยื่นซองประกวดราคา ทำให้ภาคเอกชนมีผลกำไรจากงานประมูลเป็นจำนวนมาก เป็นการทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศ

พ.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่ พันธวณิช กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลปล่อยให้ระบบการตรวจสอบถูกแทรกแซงเพื่อให้เกิดการโกงได้เชื่อว่าไม่เกินไตรมาส 2 ปีหน้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพราะเงินที่รัฐบาลกู้มาเป็นเงินออมของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าตักสุดท้ายแล้ว และนี่คือมหันตภัยที่จะทำลายธรรมาภิบาลรัฐ ทำลายความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจประเทศอย่างรุนแรง รัฐบาลควรจะดูการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นต้นน้ำให้ดี การทำอี-ออกชันไม่ใช่วิธีวิเศษอะไรแต่มันจบที่หน้าจอ

นายพยัพ ล่ำภากร ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ กสท กล่าวเสริมว่า ถ้ามีการทำอี-ออกชันภาครัฐสบายใจ เพราะมีระบบที่รองรับ ไม่ใช่มาจากตัวบุคคล นอกจากนี้ ยังมีความน่าเชื่อถือ เพราะได้รับการรับรองจากกรมบัญชีกลาง

Company Related Links :
Pantavanij
กำลังโหลดความคิดเห็น