xs
xsm
sm
md
lg

พันธวณิชนำแนวร่วมสับรัฐจ้องเลิกอี-ออกชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มพันธมิตรตลาดกลางอี-ออกชัน รวมตัวออกโรงสับรัฐบาลจ้องเลิกวิธีประมูลอี-ออกชัน เตรียมยื่น 4 ข้อเสนอให้กรมบัญชีกลางสัปดาห์หน้า ประเด็นสำคัญแนะวงเงินประมูลเกิน 25 ล้านบาทถึงให้ใช้ห้องประมูลหวังลดผู้รับเหมาพบปะฮั้วราคา พร้อมเสนอลดวงเงินประมูลขั้นต่ำเหลือ 1 ล้านบาทระบุอี-ออกชันเป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุดหากรัฐจะเลิกใช้ต้องตอบให้ได้ว่าจะใช้วิธีไหนแต่คงไม่ใช่การยื่นซองประกวดราคาทั่วไปหรือการจัดซื้อวิธีพิเศษที่ส่อแนวโน้มฮั้วหรือคอร์รัปชันได้ง่ายกว่า

พันเอกรังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพันธวณิช กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) มีการหารือในเรื่องการแก้ไขระเบียบอี-ออกชัน(การประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์) โดยมีการเสนอแนะให้ยกเลิกระบบอี-ออกชันเกี่ยวกับงานการประมูลก่อสร้างโดยให้เหตุผลว่าระเบียบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประมูลงานของภาคเอกชนและภาครัฐได้รับงานที่ไม่มีคุณภาพจากการประมูล ส่งผลให้ผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำนวน 11 บริษัท ประกอบด้วย พันธวณิช บริษัท บ๊อป เนทเวอร์ค จำกัด บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด บริษัท ดาต้าแมท จำกัด บริษัทซอฟแวร์ลิ้งค์ จำกัด บริษัทฟรีอินเตอร์เน็ท จำกัด บริษัท  อินเทลลิเจนท์โซลูชั่น แอนด์เซอร์วิส จำกัด บริษัท นิวตรอน การประมูลจำกัด บริษัทสเปซไวร์ จำกัด และบริษัท สวนกุหลาบ เซอรารี่ชีล จำกัดตกลงที่จะยื่นข้อเสนอ 4 ประการในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อออนไลน์ที่รัฐดำเนินการต่อกรมบัญชีกลางในสัปดาห์หน้า

ประกอบด้วย 1. ระเบียบว่าด้วยการยึดหลักประกันซองจากผู้มีสิทธิเสนอราคาในการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549  โดยเสนอให้กรมบัญชีกลางแยกหลักประกันซองออกเป็น 2 ส่วน คือ1.ค่าปรับในการผิดเงื่อนไขการเสนอราคา และยึดหลักค้ำประกันซอง โดยให้หน่วยงานผู้ซื้อเก็บค่าปรับเป็นมูลค่า 10เท่าของค่าธรรมเนียมการบริการประมูลในกรณีที่ผู้มีสิทธิเสนอราคาไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และ 2.ให้หน่วยงานผู้ซื้อยึดหลักค้ำประกันซองในกรณีที่ผู้เสนอราคาทำผิดรุนแรง เช่นไม่ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง log in เข้าสู่ระบบแต่ไม่เสนอราคา หรือไม่ลงรายมือชื่อเพื่อยืนยันราคาสุดท้ายในการเสนอราคา เป็นต้น

2.เสนอแนะให้กรมบัญชีกลางกำหนดวงเงินสำหรับการใช้สถานที่กลางตั้งแต่วงเงินจัดซื้อ/จัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 25 ล้านบาท ขึ้นไปเท่านั้น โดยการปรับวงเงินสำหรับการใช้สถานที่ ประมูลจะช่วยให้ภาครัฐประหยัดทรัพยากรบุคคลในการเป็นผู้สังเกตการณ์ประมูล ตลอดจนงบประมาณในการจัดการประมูล เช่นค่าเดินทาง และเบี้ยเลี้ยงเป็นต้นประกอบกับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 25 ล้านบาทผู้ประมูลไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังห้องประมูล สามารถช่วยย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและยังลดโอกาสที่ผู้ค้าจะมาพบกันและทำการสมยอมราคาในห้องประมูลอีกด้วย 3.กรมบัญชีกลางควรพิจารณาปรับลดวงเงินงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างขั้นต่ำจาก 2 ล้านบาทเป็น 1 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้มีการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอี-ออกชันมากขึ้นและสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานของรัฐบาล และประเด็นสุดท้าย จัดหามาตรการส่งเสริมความโปร่งใสในการประมูล

ทั้งนี้การที่ภาครัฐอ้างว่าระบบอี-ออกชัน ทำให้เกิดปัญหาและไม่มีประสิทธิภาพในการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ผิดและไม่มีความรับผิดชอบเพราะการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุด หากมีวิธีใดที่ดีกว่านี้ตลาดกลางฯ ก็พร้อมที่จะรับฟังแต่หวังว่ารัฐบาลคงไม่กลับไปใช้วิธีพิเศษซึ่งมีปัญหามาก

ทั้งนี้หากภาครัฐจะใช้วิธีการพิเศษก็ควรไม่เกิน 5% โดยใช้เฉพาะโครงการเฉพาะทางเท่านั้น อาทิ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น แต่ส่วนที่เหลือควรเข้าระบบอี-ออกชัน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทรายเล็กสามารถเข้าร่วมประมูลได้รวมทั้งงบประมาณไม่กระจุกตัวและลดการผูกขาด

นายโยธิน อนาวิล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ป๊อบเนทเวอร์ค กล่าวว่า กรณีโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันของรัฐบาล การประมูลมีความโปร่งใสแต่มาติดตรงที่เงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์ ) เพราะตามหลักสากลการเช่ารถไม่ควรเกิน 3-4 ปี หากเกินกว่านี้รัฐบาลจะต้องรับภาระค่าซ่อมซึ่งมีราคาแพงกว่าค่ารถถึง 10 เท่า

นายปิยะ พิริยะโภคานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวตรอน การประมูล กล่าวว่า จากข้อมูลปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 3 แสนล้านบาท โดยช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 10 % โดยปีนี้หาก พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทออกมาคาดว่าจะมีงบประมาณจำนวนมาก

แต่ทั้งนี้ต้องดูว่ารัฐบาลจะกระจายงบประมาณไปส่วนใด หากนำไปลงในท้องถิ่นจำนวนการประมูลอิเล็กทรอนิกส์จะมีมากกว่า 40,000 ครั้ง แต่ถ้าหากนำไปลงในโครงการเมกะโปรเจกต์จำนวนจะเท่าการประมูลปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เม็ดเงินค่อนข้างมาก

Company Related Links :
Pantavanij
กำลังโหลดความคิดเห็น