xs
xsm
sm
md
lg

อีคาร์ทสตูดิโอโตกลางวิกฤตเศรษฐกิจ(สัมภาษณ์)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ธัชพงษ์ โหตรภวานนท์
อีคาร์ทสตูดิโอโชว์ศักยภาพด้านเว็บแอปพลิเคชัน ที่ได้เทคโนโลยีด้านแผนที่ดิจิตอลทั้งแบบลายเส้น และดาวเทียมจากกลุ่มล็อกซเล่ย์ ซึ่งเข้ามาร่วมถือหุ้นเมื่องกลางปีนี้เป็นแรงหนุน ในมุมมองของ 2 ผู้บริหาร “วุฒิกร มโนมัยวิบูลย์” กรรมการผู้จัดการ และ “ธัชพงษ์ โหตรภวานนท์” ผู้อำนวยการ ที่ให้ความเห็นผ่าน “ผู้จัดการรายวัน” เชื่อว่าเป็นการสร้างโอกาสท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ผู้ประกอบการต้องประหยัดงบ หาจุดด้อย ปรับเปลี่ยนองค์กรรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ด้วยข้อมูลที่หลากหลาย

เป็นไปเป็นมาอย่างไรถึงได้ร่วมงานกัน

วุฒิกรเขาทำซอฟต์แวร์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเชี่ยวชาญเรื่องอี-คอมเมิร์ซ พอกลับมาไทยก็ตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ พอดีกับผมออกจากซีเอส ล็อกซอินโฟ จึงมาร่วมทุนกัน

ทุนแรกๆ เท่าไหร่

ทุนจดทะเบียนตอนแรก 1 ล้านบาท แล้วก็มาเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท พอทำไปสักระยะก็ได้รับโปรเจกต์ดูแลภาพถ่ายแผนที่ดาวเทียม แผนที่ลายเส้น ก็เริ่มทำแอปพลิเคชัน ซึ่งก็ทำได้ดี แต่เราเห็นว่าถ้าจะให้ดีขึ้นน่าจะให้ล็อกซเล่ย์เข้ามาถือหุ้น เพราะจะได้วิน วิน เนื่องจากข้อมูลล็อกซเล่ย์มีมาก ขณะที่เรามีประสบการณ์ด้านซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ล็อกซเล่ย์เขาจึงเข้ามถือหุ้นในนามล็อกซบิส 30%

แต่การดำเนินงานของเราถึงจะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่มีความคล่องตัวสูง ทำให้เราและล็อกซเล่ย์ได้ประโยชน์ทั้งคู่ โดยอีคาร์ทก็ได้ชื่อล็อกซเล่ย์เป็นเครื่องหมายที่รับประกันว่าเราไม่ใช่ไม่มีอะไร นอกจากนี้ ยังได้แชร์ในเรื่องของรีซอร์สกันมากขึ้น

ธุรกิจหลักๆ มีอะไรบ้าง

มี 2 ธุรกิจหลักคือ 1.พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับลูกค้า โดยใช้แผนที่ทั้งจากดาวเทียมและลายเส้นเข้ามาช่วย โดยลูกค้าก็มีตั้งแต่องค์กรขนาดเล็กจนถึงใหญ่ เช่น ธนาคาร ประกันภัย มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนถึงล้านบาท แล้วแต่ขนาดความต้องการของลูกค้า

2.ทำแอปพลิเคชันสำหรับพับลิก โดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.พอยต์ไทยแลนด์ โดยใช้แผนที่ช่วย 2.เว็บสมาคมต่างๆ ซึ่งการที่เราทำตรงนี้ เพราะบรรดาสมาคมทำเองแล้วไม่ประสบความสำเร็จ พอเราทำให้ก็ประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมาคมของจุฬาฯ สมาคมธรรมศาสตร์ สมาคมกอล์ฟ เป็นต้น

ส่วนใหญ่คนจะมองว่าสมาคมได้รับเงินบริจาค แต่หลายๆ แห่งเป็นการลงทุนอะไรอย่างหนึ่ง แต่การลงทุนไม่กล้าลงทุนจริงจัง เป็นการขอความช่วยเหลือเพื่อขยายข้อมูลมากกว่า แต่ถ้าต้องการให้มีการอัปเดตข้อมูลสมาชิกต้องมีอีเมล แอดเดรส ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ เพราะถ้าสร้างให้เว็บสมาคมเป็นคอมมูนิตี อย่างของจุฬาฯหรือธรรมศาสตร์ ทำเนียบแต่ละรุ่น หรือทุกรุ่นเขาสามารถเข้ามาเช็ก เข้ามาอัปเดตข้อมูล รวมถึงร่วมแสดงความคิดเห็นได้

รายได้จากการให้บริการตรงนี้คิดอย่างไร

ราคาก็คิดเป็นหลักแสนบาท แต่จุดสำคัญคือต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีแรก เพราะต้องทำให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงสมาชิกให้ได้ เพราะหลายๆ รุ่นจะมีเว็บไซต์ของตัวเองอยู่ แต่ถ้าทำให้สมาชิกเหล่านี้มาใช้เว็บสมาคมจะได้ข้อมูลมากกว่า ประหยัดต้นทุนมากกว่า เพราะการที่เราทำเว็บสมาคมเกิดจากการนำเอา 3-4 เว็บมารวมกัน

พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันอย่างไร

เรื่องเว็บอนาคตเราหวังจะทำรายได้มาก เพราะจะดีไซน์ออกมาให้เป็นเว็บสำเร็จรูป ถึงแม้เว็บลักษณะนี้จะมีมากแล้วในตลาด แต่คอนเซ็ปต์เราคือบริษัทเล็กๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้ ที่เป็นลูกค้าเราสามารถนำสินค้า หรือข้อมูลใส่เข้าไปในเว็บไซต์ได้เลย นอกจากนี้ เรื่องของราคาก็จะคิดในราคาถูกคือปีละ 2,500 บาท ถูกกว่าการที่จะนำเว็บไซต์ไปโฮสต์ไว้กับบริษัทต่างๆ ที่คิดค่าใช้จ่ายปีละ 4-5 พันบาท

การทำเว็บสำเร็จรูปลักษณะนี้ คนที่ทำงานอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้ ขายสินค้า ขยายตลาดได้ เพราะเรามีให้ถึง 20 หมวดหมู่ที่สามารถใส่สินค้าลงไป ขณะเดียวกันก็สามารถค้นหาสินค้าและบริการได้ง่าย ลงถึงรายละเอียดได้ลึกเพราะมีแผนที่เข้ามาช่วยค้นหา เช่น เราจะซื้อสินค้าอย่างยางรถยนต์ก็สามารถรู้ได้ทันทีจากแผนที่ที่มาพร้อมเว็บไซต์ว่าร้านไหนอยู่ใกล้บ้าน มีสัญลักษณ์อะไรเป็นที่สังเกตได้ง่าย เป็นต้น

มีลูกค้ากี่ราย

ลูกค้ามี 2 แบบคือพับลิกที่เป็นธุรกิจมาลองใช้แล้วกว่า 2 หมื่นบริษัท ซึ่งเว็บแอปพลิเคชันนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งจากเอสเอ็มอี รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ เพราะข้อมูลจะอัปเดตตลอด ราคาก็ค่อนข้างถูก

การตลาดเราจะทำอย่างไร

ถ้าเป็นคอนซูเมอร์ก็จะทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต้องให้ความรู้เหมือนกับสินค้าคอนซูเมอร์ทั่วไป

มีรายได้เข้ามามากน้อยแค่ไหน

รายได้กรุ๊ป แมปนี้มีส่วนน้อย หลักๆ คือการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ที่เป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาท ขึ้นอยู่กับสเกลที่ทำให้ แต่ถ้าจะให้บอกเป็นตัวเลข ยังบอกไม่ได้ เพราะเราเริ่มมาได้ประมาณ 3-4 ปี และกลุ่มล็อกซเล่ย์เพิ่งเข้ามาถือหุ้นเมื่อกลางปีนี้

นโยบายปีหน้า

เรากำลังจะขยายธุรกิจ เพราะเห็นความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ แต่ละส่วน แต่ละหน่วยงานมีความต้องการตรงนี้

ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีผลกระทบหรือไม่

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เราเห็นเป็นโอกาส เพราะบริษัทต่างๆ ต้องการรู้ข้อมูล ต้องการรู้จุดอ่อนของตัวเอง เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุง ถ้าเศรษฐกิจดีบริษัทต่างๆ ก็อาจจะไปทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทีวี อาจจะไม่ทำผ่านเว็บไซต์ พอเกิดปัญหาเศรษฐกิจก็มาใช้บริการตรงนี้ เพราะช่วยประหยัดงบ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้จากข้อมูลที่มีเข้ามาจำนวนมาก และอัปเดตตลอดเวลา

บุคลากรจะเพิ่มหรือไม่

คนของเราจาก 20 คนก็เพิ่มเป็น 30 คนแล้ว แต่ถ้ามีลูกค้าเพิ่มก็ต้องมีคนเพิ่ม เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เราลงทุน เพื่อสร้างคุณภาพและสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้น ถ้าคนถึง 40-50 คนบริษัทจะเริ่มมีความเสถียร ถ้ามีใครออกก็จะไม่กระทบกับคุณภาพในการให้บริการ

Company Related Links :
Ecartstudio
ดร.ธัชพงษ์ โหตรภวานนท์ (ซ้าย) วุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ (ขวา)
เว็บไซต์ของสมาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าของอีคาร์ทสตูดิโอ
กำลังโหลดความคิดเห็น