บอร์ดกสท ไม่ขายหุ้นไทยโมบายให้ทีโอที พร้อมเสนอขอซื้อที่ตัวเลข 3,300 ล้านบาท ผ่อนจ่ายแค่ 5 ปี ยันช่วยสถานะการเงินทีโอทีดีขึ้น เชื่อหากกสท ทำเองจะเร็วและประหยัดต้นทุนเพราะใช้สถานีฐาน ซีดีเอ็มเอ ได้ทันที ขณะที่ “สถิตย์” ย้ำชัดจะขายเมื่อทีโอทีจ่ายสด มั่นใจ รมว.ไอซีทีจะเลือกแนวทางที่ดีที่สุด
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า บอร์ดมีมติให้ กสท ซื้อหุ้นในกิจการร่วมค้าไทยโมบาย สัดส่วน 58% ทีโอทีถืออยู่ เพื่อให้ กสท เป็นผู้มีสิทธิ์ขาดการบริหารงานในไทยโมบาย 100% ด้วยมูลค่า 3,300 ล้านบาท ผ่อนชำระเป็นเวลา 5 ปี เฉลี่ยปีละ 660 ล้านบาท และกสท จะเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินทั้งหมด 6,000 ล้านบาท ส่วนค่าโอนและภาษีให้ทีโอทีเป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ มติดังกล่าวสืบเนื่องมาจากข้อเสนอของทีโอที ที่ขอซื้อหุ้นไทยโมบายในสัดส่วน 42% โดยบอร์ดทีโอทียื่นเงื่อนไขขอซื้อหุ้น กสท คืนมูลค่า 2,400 ล้านบาท ผ่อนชำระ 12 ปีๆ ละ 200 ล้านบาท แต่หากคิดเป็นจำนวนเงินที่แท้จริง มีมูลค่าเพียง 1,600 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นมูลค่าเดียวกับที่บอร์ดมีมติเห็นชอบก่อนหน้านี้ กสท จึงไม่สามารถรับข้อเสนอได้
“การที่ กสท กลายเป็นผู้เสนอซื้อหุ้นไทยโมบาย นั้นจะส่งผลดีต่อตัวทีโอทีเองเพราะเงินที่ได้จากการขายหุ้นจะช่วยให้ทีโอทีมีสะถานะการเงิน และสภาพคล่องที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
แต่หากบอร์ดทีโอทียอมที่จะจ่ายเงินก้อนเดียว 2,400 ล้านบาท หลังจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบใน 7 วัน บอร์ดกสท ก็ยินดีขายหุ้นไทยโมบายที่ กสท ถืออยู่ 42%ให้ โดยเชื่อว่านายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือ ไอซีที จะเห็นชอบในข้อเสนอที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะ รมว.ไอซีทีต้องการสรุปเรื่องนี้ให้ได้ภายใน 10 วัน
ดังนั้น ที่ประชุมบอร์ดจึงมีมติเห็นชอบเสนอข้อเสนอกลับไปยังบริษัททีโอที เพื่อขอซื้อหุ้นไทยโมบาย ที่ทีโอทีถืออยู่คืน เนื่องจากกสท เชื่อมั่นว่าด้วยสถานการณ์เงินที่เข้มแข็งและเครือข่ายซีดีเอ็มเอของ กสท ที่มีอยู่สามารถนำมาต่อยอด ให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากสามารถนำอุปกรณ์มาติดตั้งไว้บนสถานีฐานซีดีเอ็มเอที่มีอยู่ใน 51 จังหวัด
”เราเชื่อว่า กสท สามารถให้บริการ3จีได้รวดเร็วตามนโยบายของ รมว.คลังและรมว.ไอซีทีต้องการให้บริการมือถือ3จีในประเทศไทยเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด อีกทั้งเป็นการใช้โครงข่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะกสท ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีฐานเพื่อให้บริการใหม่ทั้งหมด เพราะสามารถใช้สถานีฐานร่วมกับซีดีเอ็มเอได้”
อย่างไรก็ดี หากกสท ได้คลื่นความถี่3จีในย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ มาบริหารทำให้กสท กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยี3จีให้ผู้บริโภคเลือกได้ถึงสามรูปแบบ คือ จากระบบซีดีเอ็มเอบนคลื่นความถี่ 850 MHZ 3จีบนเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ ในส่วน 850 MHZ ของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และ 3จีของไทยโมบาย
ด้านนายระเฑียร ศรีมงคล โฆษกบอร์ดทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกันในวันที่ศุกร์ 6 มิถุนายนนี้
ก่อนหน้านี้นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานบอร์ดได้เจรจากับนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ด กสท ผ่านโทรศัพท์มือถือ กรณีราคาซื้อขายหุ้นกิจการร่วมค้าไทยโมบายจำนวน 42% ของ กสท ในราคา 2,400 ล้านบาท ผ่อนปีละ 200 ล้านบาทจำนวน 12 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวประธานบอร์ด กสท ก็ได้ปรึกษากับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรมว.คลังเห็นชอบกับวิธีการดังกล่าว
ทั้งนี้ ประธานบอร์ดทีโอทียังได้แจ้งให้บอร์ดได้รับทราบเรื่องสรุปราคาซื้อขายหุ้นไทยโมบายด้วย พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับแผนดำเนินงาน 3จี โดยให้กรอบไว้ 3 แนวทางเบื้องต้น คือ 1. ทีโอทีจะเป็นผู้ดูแลและบริหารเอง 2.หาพันธมิตรเพื่อร่วมดำเนินการในบางส่วนที่คิดว่าทีโอทีไม่เชี่ยวชาญ 3.สัมปทานให้กับเอกชน
นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้บอร์ดจะประชุมปรับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว 5 ปี เพื่อปรับแผนฉบับเดิมให้สมบูรณ์มากขึ้นจากแผนฉบับเดิมยังเน้นด้านปฏิบัติการและลงทุนอย่างเดียว อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้จะนำความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารนำมาใส่ในแผนด้วย ซึ่งแผนดังกล่าวต้องเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม การปรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเพื่อให้รับกับสภาพการแข่งขันในปัจจุบัน เพราะแนวโน้มรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ อีกทั้งรายได้ของทีโอทีไม่ควรพึ่งรายได้ที่มาจากสัมปทานอย่างเดียว ควรปรับเรื่องศูนย์ให้บริการลูกค้าให้สามารถดูแลผู้ใช้บริการได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง
“2 เดือนที่ผ่านมาทีโอทีได้ดำเนินการระงับข้อพิพาทไปมาก แต่วันนี้ทีโอทีได้แสดงความจำนงทุ่มเทไปยังเรื่องแผนยุทธศสาตร์ระยะยาวและจากการที่ทีโอทีตัดสินใจเดินหน้า 3จีก็เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเช่นเดียวกัน”
นายระเฑียร กล่าวว่า ส่วนกรณีการเจรจากับ กสท เรื่องอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (อินเตอร์คอนเนกชันชาร์จ หรือ ค่าไอซี)นั้นในขณะนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจาก กสท ได้เสนอราคาต่ำเกินไป ที่ 0.21 สตางค์ต่อนาที ส่วนทีโอทีเสนอราคาประมาณ 1.50 บาท ต่อนาทีซึ่งเป็นราคาเท่ากับผู้ประกอบการรายอื่น อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดก็คงต้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
Company Related Links :
Cattelecom