xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคยกหุ้นแลกแปรสัญญากสท ‘สถิตย์-ธนา’จวกพวกปั้นน้ำเป็นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค
‘สถิตย์’ เล็งปรับโครงสร้างธุรกิจ กสท แยกระหว่างเน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์กับเซอร์วิส โพรวายเดอร์ พร้อมรีแบรนด์ จาก CAT Telecom ให้เหลือเพียง CAT ให้บริการทุกอย่างเหมือนทีโอที ด้านโทรศัพท์มือถือเดินหน้า 2 เทคโนโลยีทั้ง CDMA 2000 1X EV-DO กับ W-CDMA จับมือดีแทคจัดระเบียบความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์เพื่อให้ได้ความถี่พอให้บริการ HSPA ได้อีก 1 ราย ส่วนกรณีดีแทคยกหุ้น 25% แลกแปรสัญญาสัมปทาน ทั้ง ‘สถิตย์-ธนา’ ประสานเสียงไม่เป็นความจริง ไร้สาระ ไม่มีเหตุผล

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ด บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า กสท จะต้องมีการปรับโครงสร้างบริหารและโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยจะต้องมีความสมบูรณ์ในตัวเองเพื่อให้สามารถกำหนดเป้าหมายธุรกิจได้อย่างชัดเจนและสามารถวัดผลได้โดยง่าย โดยจะต้องไม่เกิดการบริหารข้ามสายงานกัน โดยแต่ละสายธุรกิจจะต้องมีผู้บริหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จคล้ายๆเป็นซีอีโอในแต่ละธุรกิจอย่างเช่นสายงานด้านโทรศัพท์ระหว่างประเทศ หรือ สายงานด้านธุรกิจโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งต้องแยกให้เห็นความชัดเจนระหว่างการเป็นเน็ตเวิร์กโพรวายเดอร์กับเซอร์วิสโพรวายเดอร์

นอกจากนี้ กสท อาจจะต้องทำการรีแบรนด์ใหม่ จากปัจจุบันในภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า CAT Telecom ก็จะตัดให้เหลือเพียง CAT อย่างเดียวเนื่องจากการทำธุรกิจต่อไปของ กสทจะต้องเหมือนกับทีโอที คือทำธุรกิจทุกอย่างไม่ได้ยึดติดเฉพาะโทรคมนาคมเท่านั้น แต่จะหมายถึงการ Communications ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นในรูปวอยซ์ วิดีโอหรือดาต้า

“กสท ต้องทำทุกอย่างเหมือนทีโอที เพียงแต่ตอนนี้กสทอยู่ในสถานะดีกว่าทีโอที แต่อนาคตหากไม่ปรับตัว แนวโน้มความได้เปรียบจะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านโทร.ต่างประเทศ กสท ต้องใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ว่าจะใช้บริการเองหรือให้คนอื่นเช่า”

ยุทธศาสตร์ของ กสท ที่สำคัญคือจะต้องมีโครงข่ายปลายทางให้ถึงผู้บริโภคสุดท้าย (last mile) โดยเร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเองหรือให้บริการผ่านพันธมิตร ซึ่งสะท้อนผ่านเป้าหมายการให้บริการด้านโมบายหรือโทรศัพท์มือถือของ กสท

นายสถิตย์กล่าวว่า ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของกสทจะเดินหน้าใน 2 เทคโนโลยีคือ1.ด้าน CDMA 2000 1X EV-DO ที่กสทให้หัวเหว่ยติดตั้งเครือข่ายใน 51 จังหวัดภูมิภาค โดยที่กสทจะเป็นผู้ทำการตลาดเอง กับบริการซีดีเอ็มเอที่ฮัทช์เป็นผู้ทำตลาดใน 25 จังหวัดภาคกลางรวมทั้งกทม.ซึ่งมอบหมายให้นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่กสท ทำการตลาดในภูมิภาคอย่างเต็มที่ ในขณะที่ปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหัวเหว่ยกับกสท ก็มอบหมายให้บอร์ดบริหาร (บอร์ดเล็ก) ดำเนินการไป รวมทั้งการเจรจากับฮัทช์ก็ให้เจรจาต่อไป แต่กสทไม่จำเป็นต้องรอให้การเจรจาได้ข้อสรุป

“ผมต้องการลบภาพที่มีปัญหาต่างๆของซีดีเอ็มเอออกไป และต้องการให้เกิด positive ออกมา โดย กสท ต้องทำการตลาดภูมิภาคอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะใช้แบรนด์ CAT CDMA หรือ CAT Mobile ก็ตาม เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดรู้ว่า กสท เอาจริง และต้องการเข้าไปอยู่ในอันดับ 3 ของตลาดสื่อสารโทรคมนาคมให้ได้”

2.เทคโนโลยี W-CDMA (วายแบนด์ซีดีเอ็มเอ) กสท จะให้บริการผ่านพันธมิตรอย่างดีแทค เริ่มจากการอัปเกรดย่านความถี่ปัจจุบัน 850 เมกะเฮิรตซ์เป็นบริการ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA ซึ่งมอบหมายให้นายพิศาลประสานงานกับดีแทคในการจัดระเบียบความถี่ในย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ รวมทั้งทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อขอไลเซนส์นำอุปกรณ์เข้ามาอัปเกรดระบบเป็น 3G

“บอร์ด กสท พร้อมสนับสนุนดีแทคเต็มที่ ซึ่งมอบหมายให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ประสานงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าบอร์ดไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด การได้ดีแทคเป็นพันธมิตรจะช่วยในแง่ last mile ให้ กสท ด้วย”

ประธานบอร์ด กสท ย้ำว่า กสทเป็นองค์กรที่มีขนาดพอเหมาะในการปรับตัว ผู้บริหารและพนักงานมีศักยภาพในการพัฒนาเพียงเสริมในเรื่องความพร้อมในการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมเข้าไปก็จะสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“พื้นฐาน กสท ดีอยู่แล้วเพียงแต่ใส่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ การบริหารใหม่ๆเข้าไป ก็เชื่อว่าจะสามารถผลักดันการทำธุรกิจของ กสท ให้ประสบความสำเร็จได้”

ส่วนกรณีของกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น ต้องประเมินและวัดผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์หมายถึงเป้าหมายที่มอบหมายให้ไปบรรลุผลหรือไม่ ซึ่งถ้าเป้าหมายไม่บรรลุผลก็ต้องดูว่าเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือเกิดจากปัจจัยภายในจากการบริหารของกรรมการผู้จัดการใหญ่เอง

สถิตย์ยันดีแทคให้หุ้น“ไม่เป็นความจริง”

นายสถิตย์กล่าวว่า กรณีดีแทคจะยกหุ้น 25% ให้ กสท แลกกับการแปรสัญญาสัมปทานเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าเช่าโครงข่ายนั้นไม่เป็นความจริงและไม่เคยได้ยิน รวมทั้งได้สอบถามทั้งนายพิศาล และนายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค แล้วปรากฏว่าไม่มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้แต่อย่างใด

“ทั้งหมดเป็นเรื่องไม่จริงและเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาแปรสัญญาในช่วงนี้ และโดยเฉพาะในบอร์ดชุดนี้ เพราะเรื่องสัมปทานซับซ้อนและต้องมีกระบวนการมากมายไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ”

นอกจากนี้ ยังไม่ใช่ประเด็นที่กสทสามารถจะนำเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไข กับดีแทค  เพื่อแลกกับการที่กสทยื่นขออนุญาต่อกทช.เพื่อให้ดีแทคสามารถนำอุปกรณ์ HSPA ทดสอบ  

เขากล่าวว่าแม้ว่าสัมปทานจะเหลืออีกไม่นานก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากสทจะต้องดำเนินการอย่างรีบเร่งจนไม่รอบคอบ เพราะกสทยังมีแนวทางธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในปัจจัยแวดล้อมที่มีอยู่ ทั้งการเพิ่มรายได้จากความชัดเจนหลังปรับโครงสร้างธุรกิจ และการบริหาร รวมทั้งการวางแนวทางให้บริการโทรศัพท์มือถือมีหลายแบรนด์ หลายความถี่

“หลังสัมปทานหมดอายุหมายถึงสินทรัพย์ทั้งหมดเป็นของกสทและเอกชนหมดสิทธิในการใช้โครงข่ายต่อเพราะต้องเจรจากันใหม่ ขณะที่เอกชนมีเพียงฐานลูกค้า และส่วนใหญ่ยังอยู่ในระบบเดิมที่ 2G กสทจึงไม่ได้อยู่ในสภาพที่ต้องดำเนินการอย่างรีบเร่งในเรื่องสัมปทานจนขาดความรอบคอบด้วย”

เรื่องยกหุ้น 25% ปั้นน้ำเป็นตัว

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า ข่าวที่ว่าดีแทคจะยกหุ้นให้กสท 25% นั้นไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยมีการพูดคุยในการประชุมบอร์ดบริหารของดีแทคเลย รวมทั้งผู้บริหารก็ไม่เคยคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ จะมีก็แต่การพูดกันลอยๆเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

นอกจากนั้น การผูกเรื่องยกหุ้นเพื่อแลกกับการแปรสัญญาสัมปทานเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้เป็นค่าเช่าโครงข่าย ก็เป็นเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากมาก เพราะต้องผ่านทั้งสภาพัฒน์ฯ ผ่านการพิจารณาของครม. ต้องมีคณะกรรมการตามมาตรา 22 ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากและไม่มีใครคิดจะทำแล้ว

“ผมขอยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง ผู้บริหารดีแทคไม่เคยคุยกันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเลย ผมสงสัยเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น”

นายธนากล่าวว่า นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทคได้เข้าพบกับนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดกสทเมื่อวันที่ 8 พ.ค.เพื่อหารือในเรื่อง 3G ซึ่งได้ข้อสรุปว่าดีแทคกับกสทจะจัดระเบียบความถี่ในย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ ซึ่งจะทำให้มีความถี่เหลือพอที่กสทจะให้ผู้บริการอีกราย ไม่ว่าจะให้ทรูมูฟ หรือให้เอกชนรายใหม่ตามเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับกสท โดยในเบื้องต้นกทช.ไม่ขัดข้องเนื่องจากเป็นการนำทรัพยากรความถี่เดิม มาจัดระเบียบทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ดีแทคกับ กสท คงต้องทำหนังสือแจ้งเข้าไปยัง กทช.ในการจัดระเบียบความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ใหม่ ซึ่งทำให้เกิด slot ว่างพอที่จะให้บริการได้อีก 1 ราย ซึ่งกทช.ก็ไม่ขัดข้อง เพราะเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย”

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นว่า หากการยกหุ้นดีแทคแลกแปรสัญญาเป็นการกุเรื่องขึ้นซึ่งเป็นไปได้ยาก กรณีเอไอเอสยิ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการดำเนินการใดๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนแบ่งรายได้หรือการแปรสัญญาสัมปทาน เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งเพราะหากในอนาคตมีการตรวจสอบว่าสิ่งที่บอร์ดหรือผู้บริหารยุคนั้นๆทำให้รัฐเสียหายก็เท่ากับยื่นขาข้างหนึ่งเข้าไปในคุก เหมือนกรณีการเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ระบบพรีเพดจากเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนเป็น 20% ทั้งบอร์ดและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเวียนเข้าไปให้ปากคำกับคตส.มาหลายหน

“การเต้าเรื่องดังกล่าวขึ้น แสดงให้เห็นถึงการไร้วุฒิภาวะ ทำให้อุตสาหกรรมป่วน นักลงทุนเข้าใจผิด หลงทางกันไปหมดเพียงเพราะการขาดความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม”

Company Related Links :
Cattelecom
DTAC
กำลังโหลดความคิดเห็น