xs
xsm
sm
md
lg

AIS-DTAC แท็กทีมกดดันฮัทช์ใช้ไอซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ เอไอเอส ร่วมกับ นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทคแถลงข่าว กรณีการดั๊มราคาของเครือข่ายฮัทช์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อสองบริษัท ที่ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลลาดพร้าว
เอไอเอส ดีแทค ควงแขน แถลงข่าว “ผู้ใช้ฮัทช์โทร.ยาก” ระบุทางออกแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด คือจับ ฮัทช์ เซ็นสัญญาใช้ไอซี  พร้อมยอมรับแม้ว่าค่าไอซีจะต่ำกว่า 3 รายใหญ่เรียกเก็บระหว่างกันที่นาทีละ 1 บาท ดีแทค กระทุ้งกทช.กำหนดค่าไอซีชั่วคราวออกมาแก้ขัด ก่อน"สุรนันท์” เร่งเครื่องเต็มที่ 1-2 สัปดาห์ เสนอบอร์ดพิจารณา

วานนี้นายนายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส และนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องผู้ใช้บริการโทร.ศัพท์มือถือของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวเลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ฮัทช์ โทร..ข้ามมาหาทั้ง 2 โครงข่ายยาก

นายวิเชียร เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาโทร.ข้ามโครงข่ายระหว่างเอไอเอส และ ฮัทช์  คือการที่ฮัทช์ เข้าร่วมเซ็นสัญญาใช้อินเตอร์คอนเน็กชันชาร์จ หรือไอซี  เพราะต้นทุนค่าไอซี และสัญญาไอซีจะทำให้ฮัทช์ไม่สามารถดัมป์ราคาค่าโทร.ถูกได้รายเดียวเหมือนที่ผ่านมา  

ทั้งนี้เอไอเอสยอมใช้ค่าไอซีกับกสท ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าไอซีทีกับรายอื่น โดย บริษัท กสท โทร.คมนาคม จำกัด (มหาชน) จะคำนวณค่าไอซีที่แตกต่างและต่ำกว่ารายอื่นอยู่ที่นาทีละ 0.21 บาท ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นอย่าง เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด คิดค่าไอซีทีที่นาทีละ 1 บาท

“การใช้ไอซีเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาโทร.ยากของฮัทช์ เพราะฮัทช์จะมีต้นทุนจากค่าไอซี รวมถึงสัญญาไอซียังระบุให้ผู้เชื่อมต่อขยายวงจรเชื่อมโยงให้เพียงพอกับปริมาณการโทร. แต่ที่ผ่านมาฮัทช์ ฟ้องร้องว่า เอไอเอสบล็อกสัญญาณทั้งที่ไม่ได้มีการเจรจาใดๆกันก่อน”นายวิเชียรกล่าว

โดยขณะนี้ปัญหาดังกล่าวเอไอเอสได้เร่งดำเนินการแก้ไข 4 แนวทางได้แก่ 1 .ฝ่ายเทคนิคดำเนินการเจรจากับ กสท หารือเพื่อแก้ปัญหาให้การโทร.ข้ามเครือข่ายโดยการประชุมเมื่อครั้งที่ผ่านได้ข้อสรุปว่าจะต้องมีการต่อโครงข่ายโดยตรงถึงกันจากเดิมมีการเชื่อมต่อโครงข่ายผ่านทีโอที ซึ่งควบคุมได้ยากกว่าการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยตรงถึงกัน 2.ฝ่ายบริหารต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับสาธารณชน

3.ฝ่ายกฎหมายเดินหน้าหาช่องทางฟ้องร้องกับฮัทช์ทั้งทางแพ่งและอาญา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 4.ส่งจดหมายถึงคณะกรรมการกิจการโทร.คมนาคม หรือ กทช.เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ดำเนินการไต่สวนกรณีความไม่เป็นธรรมที่ก่อให้เกิดการดั๊มป์ราคา โดยที่มีผู้รับผิดชอบกรณีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนโทร.ออกยาก

“อย่างไรก็ดีปริมาณการโทร.ของฮัทช์ตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่ผ่านมาถึงปีนี้มีทราฟฟิกจากฮัทช์โทร.หาเอไอเอสเพิ่มขึ้น 72% คิดเป็นปริมาณการโทร.วันละ 7 ล้านนาที หรือเดือนละ 47  ล้านนาที  คิดเป็นค่าไอซีที่ฮัทช์ ต้องจ่ายเอไอเอสราว 400 ล้านบาท”นายวิเชียรกล่าว

นายธนา กล่าวเสริมว่า การยุติปัญหาผู้ใช้ฮัทช์ โทร.ข้ามโครงข่ายยาก คือฮัทช์เข้ามาใช้ไอซี โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง กทช.ตัดสินว่าจะใช้ค่าไอซีที่ราคาเท่าไหร่ โดยกสท เสนอที่นาทีละ 0.21 บาท ดีแทค เสนอที่ราคา นาทีละ 1 บาท  โดยระหว่างนี้กทช.แก้ปัญหาด้วยการประกาศใช้ค่าไอซีชั่วคราวระหว่าง ดีแทค กสท และเอไอเอสกับ กสท เพื่อเป็นการแก้ปัญหา โทร.ยากจากการลดราคา

“เราอยากให้กทช.กำหนดค่าไอซีชั่วคราวขึ้นมาใช้ระหว่างดีแทค กับฮัทช์ เพื่อแก้ปัญหาฮัทช์ใช้ข้อได้เปรียบไม่เสียค่าไอซีที มาลดราคาถูกกว่ารายอื่น ทั้งนี้ปริมาณทราฟิกจากฮัทช์มาดีแทคในช่วง 10 สัปดาห์แรกของปีนี้มีปริมาณถึง 42 ล้านนาที เพิ่มขึ้นจาก 10สัปดาห์แรกของปีก่อนที่ปริมาณทราฟิก 22 ล้านนาที และหากคำนวณปริมาณการโทร.ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ ฮัทช์ต้องจ่ายค่าไอซีให้ดีแทค 347 ล้านบาท”นายธนากล่าว

นายสุรนันท์ วงค์วิริยกำจร เลขากทช.  เปิดเผยว่าขณะนี้กทช.ก็กำลังเร่งสรุปค่าไอซี ระหว่าง กสท กับดีแทค โดยคณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาทไอซีเรื่องดังกล่าวให้บอร์ด กสช.พิจารณาในอีก 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้

Company Related Links :
AIS
DTAC
กำลังโหลดความคิดเห็น