อนาคตเริ่มสดใสไทยโมบาย ‘สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ ยื่นข้อเสนอหากทีโอทีไม่พร้อมซื้อหุ้นคืน 2.4 พันล้านบาท กสท ก็พร้อมเป็นฝ่ายซื้อหุ้น 58% ของทีโอที ด้วยมูลค่า 2.4 พันล้านบาทเท่ากัน เพื่อนำมาดำเนินการ 3G ตามกรอบของ กสท ยันได้ข้อสรุปภายในเดือนพ.ค. หลังรมว.ไอซีทีกับ รมว.คลังประสานเสียงไทยต้องมีระบบ 3G หลังล้าหลังลาว กัมพูชา ด้านผู้บิรหารทีโอทีชี้เรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาเพราะบริการ 3G น่าจะการันตีรายได้ในอนาคต ส่วนปัญหาฟ้องร้องสามารถ-ไอโมบาย 2.6 พันล้านบาท เอกชนก็พร้อมไกล่เกลี่ย ไม่อยากค้าความ 3 ศาล
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า การแก้ปัญหากิจการร่วมค้าไทยโมบายในประเด็นการซื้อขายหุ้นระหว่าง กสท กับบริษัท ทีโอที ตลอดจนการเดินหน้าลงทุนเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G คาดว่าจะต้องได้ข้อยุติภายในเดือนพ.ค.นี้ หลังจากที่ดร.มั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ตั้งคณะกรรมการในลักษณะซูเปอร์บอร์ด ที่ประกอบด้วยประธานบอร์ด กสท กับประธานบอร์ดทีโอที กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้ง 2 หน่วยงานและกรรมการบอร์ดที่เป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ในด้านของ กสท ยังยืนยันว่าทีโอทีต้องซื้อหุ้นจำนวน 42% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2.4 พันล้านบาท หากต้องการได้สิทธิในการบริหารและจัดการคลื่นในย่านความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ของไทยโมบายเพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G โดย กสท พร้อมยืดหยุ่นมากที่สุดในแง่เทอมการจ่ายเงิน เนื่องจากทั้ง 2 องค์กรเป็นหน่วยงานรัฐ เข้าทำนองอัฐยายซื้อขนมยาย ซึ่งไม่น่าจะเกิดความเสียหายอะไรขึ้น
“กสทพร้อมให้ทีโอทีผ่อนชำระด้วยซ้ำ เพียงแต่ขอให้จ่ายให้หมดภายในปีนี้ เพื่อให้งบการเงินของ กสท ดูดี”
นายสถิตย์กล่าวว่า ในเรื่องการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของทั้งกสทและทีโอที รมว.ไอซีทีได้ดำริเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว แม้กระทั่ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการเรื่อง 3G โดยด่วนเพราะประเทศไทยล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นลาวหรือกัมพูชามาก เพราะไทยยังมีแค่ระบบ 2.5G เท่านั้น
ดังนั้น ทีโอทีควรเร่งดำเนินการเรื่อง 3G ของไทยโมบายโดยด่วนและจำเป็นต้องรีบตัดสินใจโดยเร็ว แต่หากทีโอทีมีข้อจำกัดในเรื่องการชำระเงินค่าหุ้น 2.4 พันล้านให้ กสท ในฐานะประธานบอร์ด กสท ก็จะเสนอแนวคิดที่จะให้ กสทเป็นฝ่ายที่ซื้อหุ้นทีโอทีจำนวน 58% ในไทยโมบาย เพื่อให้ กสท ได้สิทธิบริหารและจัดการคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์จากทีโอทีแทน ให้บอร์ดกสทพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอให้ รมว.ไอซีทีให้ความเห็นชอบต่อไป
“ถ้าทีโอทีไม่พร้อมซื้อหุ้นกสท 2.4 พันล้านบาท กสท ก็จะเป็นฝ่ายขอซื้อหุ้นทีโอทีเอง ด้วยเงิน 2.4 พันล้านบาทเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะนำไทยโมบายมาดำเนินการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ในกรอบของ กสท เอง”
นายสถิตย์กล่าวว่า การที่ กสท ต้องมีแนวคิดเป็นฝ่ายซื้อหุ้นไทยโมบายจากทีโอที กรณีทีโอทีมีปัญหา เพราะต้องการให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวมขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ เพราะด้วยข้อจำกัดในเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ทำให้ตอนนี้จะมีก็แต่กสทกับทีโอทีเท่านั้นที่จะให้บริการ 3G ได้
“การที่ กสท ออกมาเร่งทีโอที ถึงแม้สุดท้ายทีโอทียินยอมซื้อหุ้นไทยโมบายเพื่อได้สิทธิ 3G เมื่อมองแล้ว กสท ไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ตาม แต่เราต้องมองภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ ภาพรวมของอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลดีมากกว่าหากเกิด 3G ในประเทศไทย”
แหล่งข่าวจากทีโอทีกล่าวว่า เรื่องเงินค่าหุ้น 2.4 พันล้านบาทไม่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทีโอทีไม่สามารถชำระให้ กสท ได้ เพราะในแผนการลงทุน 3G รวมทั้งแผนธุรกิจที่จะเกิดขึ้น สามารถการันตีรายได้ในอนาคต ซึ่งทำให้ทีโอทีไม่น่าจะมีปัญหาในการหาเงินจำนวน 2.4 พันล้าน แม้กระทั่งคดีความกับสามารถ-ไอโมบายที่ฟ้องร้องกันอยู่ 2.6 พันล้านบาท ก็น่าจะประนีประนอมกันได้ เพราะกลุ่มสามารถไม่อยากจะค้าความ 3 ศาลกับทีโอที ในขณะที่ทีโอทีก็จะใช้กลุ่มสามารถเป็นพันธมิตรในอนาคตเนื่องจากจุดแข็งด้านการตลาด การให้บริการและคอลเซ็นเตอร์
สำหรับปัญหาการฟ้องร้องระหว่างบริษัท สามารถ ไอ-โมบายกับกิจการร่วมค้าไทยโมบายที่ทีโอทีกับ กสท ถือหุ้นในสัดส่วน 58/42 เกิดขึ้นเนื่องจากไทยโมบายได้ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการละเลยต่อการแก้ไขปัญหา และไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น จากหนี้สินของไทยโมบายที่ค้างชำระจากสัญญาว่าจ้างให้จัดทำระบบจัดเก็บเงินโทรศัพท์มือถือระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์และระบบลูกค้าสัมพันธ์เป็นเวลานานเกินกว่า 3 ปี
มูลค่าเรียกร้องค่าเสียหายที่สามารถไอ-โมบายยื่นฟ้องในครั้งนี้ 2,649 ล้านบาทแยกมูลค่าการฟ้องร้องได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินค้างชำระหนี้จากการให้บริการ 1,115 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดหนี้บริการลูกค้าสัมพันธ์ 280 ล้านบาท ค่าบริการระบบบิลลิ่ง 796 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 39 ล้านบาท
ส่วนที่ 2 ค่าดอกเบี้ยและค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดนัดสัญญา ประกอบด้วย ส่วนบิลลิ่ง 525 ล้านบาท ซีอาร์เอ็ม 43 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7 ในจำนวน 165 ล้านบาท และค่าความเสียหายต่อด้านภาพลักษณ์ขององค์กรที่มีผลต่อลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนชื่อเสียง อันมีผลต่อความน่าเชื่อ ถือของนักลงทุนและความเสียหายต่อมูลค่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 800 ล้านบาท
Company Related Links :
Cattelecom