"พล.ต.อ.เอก" ฟันธง "บิ๊กโจ๊ก" หมดสิทธิชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.คนที่ 15 หลังก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยคำสั่งให้ออกไว้ก่อนชอบด้วยกม. แต่ยังมีโอกาสกลับมาได้ หาก กก.สอบวินัยร้ายแรง ชี้ ว่าไม่ผิด
วันนี้ (10 ส.ค.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. วินิจฉัย ว่า คําสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมาย ขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี ต้องยื่นทูลเกล้าฯหรือไม่ ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเอาผลการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร. เรียนให้ทางนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตามกฏหมายกำหนดไว้ว่ากรณีที่มีคำสั่งให้ข้าราชการระดับรอง ผบ.ตร.ขึ้นไปพ้นจากราชการ ตามกฏหมายที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 140 ว่า นายกรัฐมนตรี จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งขั้นตอนต่อไปนายกฯ ก็ต้องทำเช่นนั้น แต่จะใช้ระยะเวลาในการกราบบังคมทูลเท่าไหร่นั้น ตามกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้
ส่วนสถานะของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ตามกฎหมายได้บัญญัติไว้ในมาตรา 133 (4) หากมีกระบวนการในเรื่องของการทำให้พ้นจากตำแหน่งเสร็จสมบูรณ์ โดยการกราบบังคมทูลก็ถือว่าพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. และไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจ ถ้าหากว่าพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไม่มีสถานะเป็นรอง ผบ.ตร. ก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นแคนดิเดตในการที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. วาระการแต่งตั้ง วันที่ 2 ต.ค.ของปีนี้
เมื่อถามว่าหาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดแล้วกลับเข้ารับราชการตํารวจได้อีกหรือไม่ พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า เมื่อ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไปยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดแล้ว ณ เวลานี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีการเสร็จสิ้นจากทางศาลปกครองสูงสุดเมื่อไหร่ หากสมมุติว่าเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี แล้วมีคำวินิจฉัยเป็นคุณต่อ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ต้องมีการแจ้งยกเลิกคำสั่งให้ออกจากราชการ โดย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะได้กลับมาเป็น รอง ผบ.ตร. และมีผลย้อนไปตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567
พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า กรณี พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยังมีเรื่องคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่ต้องติดตาม หากสอบสวนแล้วได้ผลว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กระทำความผิดจริง ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการจริง คือ ปลดออก-ไล่ออก ทันที แต่หากสอบสวนแล้วว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ไม่ผิดก็ต้องสั่งยุติคำสั่งก่อนหน้านี้ และเรียก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ กลับเข้ามารับราชการ ซึ่งคำสั่งที่ออกจากราชการไว้ก่อน ที่มีการสู้กันในศาลปกครองชั้นสูงสุดจะถือว่าจบสิ้นทันที และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะคำตัดสินจริงๆ ที่จะให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการคือการสอบสวนจากวินัย
"หากคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนวินัยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวน มีคำสั่งว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ผิดวินัยจริง นั่นหมายความว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะต้องออกจากราชการเลย จากนั้น พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ก็จะต้องไปร้องอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. อีกครั้งนึง ซึ่ง ก.พ.ค.ตร.ก็ต้องพิจารณา และหากวินิจฉัยว่าไม่เป็นคุณต่อพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ทาง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะต้องใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นเรื่องของการใช้สิทธิในการต่อสู้คำสั่งที่ให้ออกจากราชการจริง ส่วนตอนนี้ที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น คือคำสั่งให้ออกจากราชการชั่วคราว" พล.ต.อ.เอก กล่าว
เมื่อถามว่าหากคณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนเสร็จ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ อาจจะมีโอกาสชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.หรือไม่ พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน แน่นอนว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ อาจจะไม่ทันได้ชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.ปีนี้ แต่เรื่องหลักอยู่ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยที่กำลังดำเนินการความคืบหน้า ที่ตนเองทราบล่าสุดทางคณะกรรมการสอบสวนวินัยจะเรียก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ รับทราบข้อกล่าวหา พอรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว กระบวนการอย่างอื่นก็ไม่น่าจะมีอะไร หลังจากสอบปากคำ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ เสร็จสิ้นก็มีการสรุปผลการสอบสวนพิจารณาทางด้านวินัย จากนั้นก็จะทราบผลว่า พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ จะได้อยู่ในราชการอีกหรือไม่