พล.ต.อ.เอก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ แจ้งความเอาผิดมือมืดตัดต่อคลิป ปล่อยเฟกนิวส์ “บิ๊กโจ๊ก” คัมแบ็ก สตช. ชี้ทำ ปชช.เข้าใจผิด ทำให้เสียหาย แจงขั้นตอนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร.
วันนี้ (18 มิ.ย.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ผมทราบว่า มีการจัดทำคลิปเผยแพร่ โดยพาดข้อความด้านหน้าคลิปที่มีภาพผมกับเสียงการสัมภาษณ์ของผมที่มีการตัดต่อมา เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้ดูคลิปดังกล่าวเข้าใจผิด ทำให้ผมได้รับความเสียหาย
จึงได้ไปแจ้งความให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
พล.ต.อ.เอก ระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนต่างๆ ที่ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มาสัมภาษณ์ผมที่ห้องรับรอง ก.ตร.อาคาร 1 ตร.
เกี่ยวกับกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบข้อหารือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ดังนี้:
1. นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชการไว้ก่อน
2. กรอบระยะเวลาเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่จะต้องพิจารณาดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาอันเหมาะสมตามควรแก่กรณีต่อไป
3. และมีข้อสังเกตว่า “การสั่งให้ข้าราชการตำรวจรายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นย่อมจะทำให้การพิจารณาเหตุแห่งการกระทบสิทธิของผู้นั้นและความจำเป็นที่ต้องสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกสอบสวน และการนำความกราบบังคมทูลตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นไปด้วยความชอบธรรม”
ผมได้สัมภาษณ์และตอบคำถามสื่อมวลชน ประเด็นสำคัญๆ ดังนี้:
1. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหารือสำนักกฤษฎีกาไป 2 ข้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบมาข้างต้น (ต้องกราบบังคมทูลฯ และภายในระยะเวลาที่สมควร)
2. สำหรับข้อสังเกตที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีแจ้งมาด้วยดังกล่าวนั้น เคยมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.17/2559
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบด้วย 2 ส่วน
(1) การให้ความเห็นทางกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐขอหารือ
(2) ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่เสนอแก่หน่วยงานของรัฐ
ซึ่งตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใดแล้วโดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น
เห็นได้ว่า การที่หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเฉพาะกรณีเกี่ยวกับความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น
ส่วนข้อสังเกตอื่นๆ ของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานของรัฐมิได้มีผลให้หน่วยงานต้องปฏิบัติ
การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาย่อมเป็นไปตามดุลยพินิจและนโยบายของแต่ละหน่วยงาน
เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้อุทธรณ์คำสั่งไปยังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) แล้ว
การพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร. หาก ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการ
ส่วนจะมีการดำเนินการกับผู้ออกคำสั่งอย่างไรเป็นอีกกรณีหนึ่ง
แต่หาก ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยยกอุทธรณ์ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็สามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดต่อไปได้