xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เซ็นตั้ง "พล.ต.อ.เอก" ปธ.อนุฯ ก.ตร.พัฒนางานสอบสวน ลุยแก้วิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
"พล.ต.อ.เอก" ชี้ต้องเร่งแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวน หลังเกิดวิกฤตขาดแคลนหนัก กำลังคนไม่เพียงพอต่อคดีที่เพิ่มขึ้น งานหนัก สวัสดิการต่ำ เส้นทางเจริญก้าวหน้าตีบตัน ล่าสุดนายกฯ เซ็นตั้ง อนฯ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสืบสวนสอบสวน ดีเดย์นัดประชุมนัดแรก 16 ก.ค.นี้

วันนี้ (10 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ใจความว่า ในขณะที่สังคมกำลังจับจ้องไปที่วิกฤตความขัดแย้งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีกรณีถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ นำไปสู่เรื่องร้องเรียนฟ้องร้องหลายคดีพัวพันไปถึงบุคคลสำคัญจำนวนมาก รวมถึงมีวิกฤตตำรวจที่ปรากฎอย่างสม่ำเสมอเป็นรายวัน เช่น การพนันออนไลน์ การจับสถานบริการ ตำรวจจราจรรีดไถชาวต่างชาติ เรือบรรทุกน้ำมันของกลางหาย ฯลฯ

พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ยังมีอีกหนึ่งวิกฤตที่กำลังกัดกินระบบยุติธรรมไทยอยู่อย่างเงียบๆ นั่นคือ วิกฤตงานสอบสวน จากข้อมูลพบว่า คดีแจ้งความออนไลน์ในปี พ.ศ. 2565-2566 มีจำนวนมากกว่า 500,000 คดี คิดเป็นเฉลี่ยวันละ 1,000 คดี เดือนละ 30,000 คดี และปีละ 300,000 คดี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่า การมีจำนวนคดีที่สูงขึ้นไม่ได้แปลว่าประชาชนจะได้รับความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะพนักงานสอบสวนกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก

ปัจจุบันมีพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอต่อจำนวนคดีที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้พนักงานสอบสวนแต่ละคนต้องรับผิดชอบคดีจำนวนมหาศาล ขาดแคลนทรัพยากร และกำลังใจในการทำงาน งานหนัก เส้นทางการเจริญเติบโตตีบตัน เมื่องานสอบสวนเป็นงานที่หนัก เสี่ยงภัย และมีความรับผิดชอบสูง แต่เงินเดือนและสวัสดิการกลับต่ำกว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆทำให้พนักงานสอบสวนหลายคนหนีงานไปทำงานด้านอื่นที่มีความมั่นคงและดีกว่า หรือถึงขั้นลาออกระบบงานสอบสวน ยังขาดแรงจูงใจ ขาดระบบการประเมินผลและเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจน ทำให้พนักงานสอบสวนหลายคนรู้สึกท้อแท้ หมดไฟในการทำงาน

"วิกฤตงานสอบสวนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ส่งผลเสียต่อการอำนวยความยุติธรรม ประชาชนเข้าไม่ถึงความยุติธรรม เพราะคดีความล่าช้า ไร้ความคืบหน้า ทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการต่อสู้คดี สูญเสียทรัพย์สิน และไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม จึงเสื่อมศรัทธาต่อระบบยุติธรรม ประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของตำรวจ เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ"

พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสืบสวนสอบสวน โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ รองอัยการสูงสุด อาจารย์ นักวิชาการ ผู้บังคับบัญชาตำรวจทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์เชี่ยวชาญงานสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่พิจารณาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนางานสอบสวน การพัฒนาประสิทธิภาพของพนักงานสอบสวน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานสอบสวนของตำรวจ โดยคาดหวังว่าจะสามารถแก้ไขวิกฤตงานสอบสวนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่ระบบยุติธรรมที่รวดเร็ว โปร่งใส และประชาชนเข้าถึงได้

"คณะอนุกรรมการคณะนี้จะเริ่มประชุมครั้งแรกในวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2567 ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการพัฒนางานสืบสวนสอบสวนได้ทางช่องทางต่างๆ และร่วมส่งเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปงานสอบสวนอย่างจริงจัง ผมหวังว่าจะได้เห็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้วิกฤตงานสอบสวนเพื่อกอบกู้วิกฤตศรัทธาประชาชนต่อระบบยุติธรรมไทยได้สักเรื่องครับ" พล.ต.อ.เอก.ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น