xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ ‘วิษณุ’เปิดทาง ฟอกขาว ‘บิ๊กโจ๊ก’ โยนผิด ‘บิ๊กต่าย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน2567 ตอน ‘วิษณุ’เปิดทาง ฟอกขาว ‘บิ๊กโจ๊ก’ โยนผิด ‘บิ๊กต่าย’



สัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องถือว่าการแถลงข่าวของเนติบริกรระดับบรมครูอย่าง 'วิษณุ เครืองาม' คือ วาระสำคัญที่คนไทยเกือบทั้งประเทศต่างจับจ้อง เพราะเป็นการแถลงที่เปิดทางให้ 'บิ๊กต่อ' พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล กลับเข้าไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นานก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ก็ตาม

ขณะที่ กรณีของ 'บิ๊กโจ๊ก' พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ก็ดูเหมือนว่าจะแฮปปี้กับการแถลงของอาจารย์วิษณุเช่นกัน เนื่องจากระหว่างการแถลงข่าวได้มีการขยี้ประเด็นว่ากระบวนการให้บิ๊กโจ๊กออกจากราชการไว้ก่อนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างความเห็นของคณะกรรมการกษฤฎีกา (คณะที่ 2) ซึ่งคนที่เป็นประธานก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล เพราะเป็นคุณวิษณุนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันตามจริงการแถลงข่าวที่ออกไปเฉพาะของกรณีของบิ๊กโจ๊กนั้นต้องบอกว่าวิษณุเหมือนจะพูดความจริงแค่ครึ่งเดียวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2

กล่าวคือ ในการแถลงข่าวได้อ้างมติ 10ต่อ0ของคณะกรรมการชุดนี้ว่าการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ เพราะไม่ได้กระทำโดยคณะกรรมการสอบสวน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เท่ากับว่าไม่ต่างอะไรกับการโยนบาปให้กับ 'บิ๊กต่าย' พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ลงนามให้นายตำรวจใหญ่รายนี้ออกจากราชการไว้ก่อน

ทั้งๆที่เมื่อพิจารณาไปที่เนื้อหาในหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้มีมติว่ากระบวนการดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

โดยหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุว่า "นายกรัฐมนตรี จะต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันออกจากราชไว้ก่อน" ส่วนประเด็นที่วิษณุอ้างเรื่องการที่พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกกระทบสิทธินั้นอยู่ในตอนท้ายของหนังสือในส่วนที่เป็นข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 ที่แยกออกมาจากเนื้อหาที่เป็นมติของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมายใดๆทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงแนวทางเท่านั้น

เพราะขนาดมติของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามกฎหมายยังไม่ผูกพันกับรัฐบาลเป็นเด็ดขาด แล้วเพียงแค่ข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกายิ่งต้องไม่มีผลผูกพันรัฐบาลโดยแน่แท้

อีกทั้งมาตรา 131 ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ก็ระบุให้อำนาจผู้บังคับบัญชาการในการสั่งให้ออกจากราชการไว้อย่างชัดเจนว่า “ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้ง กรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่เป็นความผิด ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 105 หรือผู้บังคับบัญชาอื่นตามที่กำหนดในระเบียบ ก.ตร. มีอำนาจสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผล การสอบสวนพิจารณาทางวินัยได้” ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่ ‘บิ๊กต่าย’ ได้กระทำการไปก่อนหน้านี้ ย่อมถูกต้องตามกฎหมาย เพราะในแง่ของข้อเท็จจริงก็ทราบดีว่าคดีความของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ อยู่ในการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น การแถลงของวิษณุที่เลี้ยวซ้ายที ขวาที ถ้าใครตามไม่ทันก็อาจเคลิ้มจนคิดว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกลั่นแกล้ง แต่เบื้องหน้าของการแถลงข่าวที่ว่ามีลับลมคมในแล้ว เบื้องหลังของเรื่องนี้กลับมีเรื่องลึกลับที่ซ่อนไว้ที่น่าสนใจยิ่งกว่า โดยมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

การแถลงข่าวที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับเป็นสัญญาณที่ให้ ‘บิ๊กโจ๊ก’ กลับเข้าไปเบ่งกล้าในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อีกครั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงการมีสถานะเป็นรองผบ.ตร.ลำดับที่ 1 ที่มีโอกาสชิงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไป ประตูที่เปิดให้บิ๊กโจ๊กเข้ามาได้นั้นมี ‘นายใหญ่’ พรรคเพื่อไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ‘บิ๊กโจ๊ก’ จะอาสาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันที่พาพรรคเพื่อไทยปักธงในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ อันเป็นพื้นที่ที่บิ๊กโจ๊กมีเครือข่ายที่ฝังรากลึกอยู่พอสมควร มิเช่นนั้นคงไม่ได้เป็นนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้มาจนถึงปัจจุบันตั้งแต่ปี 2565

เมื่อบิ๊กโจ๊กกำลังจะกลับเข้ามาในสตช. จึงเป็นเรื่องยากที่ ‘บิ๊กตาย’ จะมีที่ยืนและโอกาสในการขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คงหลุดลอยไป ทำให้เวลานี้มีข้อเสนอมาจากฝ่ายการเมืองว่าจะให้บิ๊กต่ายย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฝ่ายข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระที่มีความเหมาะสม เหมือนกับที่อดีตนายตำรวจใหญ่ที่ไม่อาจหาที่ลงในสตช.ได้ก็ต้องระเห็จไปแสวงความก้าวหน้าตามหน่วยงานของพลเรือน ซึ่งไม่รู้ว่าจะลงเอยตามอีหรอบเดิมหรือไม่

เพราะฉะนั้น การที่ใครบอกว่าการห่ำหั่นของสองผู้ยิ่งใหญ่ในสตช.จะจบลงด้วยการเจ๊ากันไป คงต้องคิดเสียใหม่ เพราะการเจ๊ากันของผู้มีอำนาจ แต่ประชาชนกลับต้องเจ๊งในฐานะเป็นฝ่ายที่ไม่รู้ว่าจะไว้วางใจการทำงานของคนที่เรียกตัวเองว่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้อย่างไร

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น