xs
xsm
sm
md
lg

"วิษณุ-สุรเชษฐ์" โปรดทราบเลิกมโน! เปิดลับผลสอบอนุ ก.ตร. ชี้ต้องพ้นจากตำรวจ ย้ำคำสั่งให้ "โจ๊ก" ออก ถูกกฎหมาย! ** จับตา4 รูปแบบทุจริตเลือกสว. ผู้เข้ารอบมาเลือกระดับประเทศ ค่าตัวพุ่งหลักแสน หลักล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม - พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - อิทธิพร บุญประคอง
ข่าวปนคน คนปนข่าว

** "วิษณุ-สุรเชษฐ์" โปรดทราบเลิกมโน! เปิดลับผลสอบอนุ ก.ตร. ชี้ต้องพ้นจากตำรวจ ย้ำคำสั่งให้ "โจ๊ก" ออก ถูกกฎหมาย!

กองเชียร์ตีปีก ตีข่าวในโซเชียลฯ กันยกใหญ่ว่า "ชีวิตที่สิบ" ของ "โจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กำลังก่อเกิด โชคหนุนบุญช่วยใกล้จะกลับไปเป็นใหญ่ใน สตช.แล้ว หลังจาก"วิษณุ เครืองาม" เนติบริกร ร่ายเวทย์ชี้นำสังคมให้รับรู้ กรณีกฤษฎีกาเห็นว่า “โจ๊ก” ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการบ่มีไก๊ได้กลับแน่

แต่"วิษณุ-โจ๊ก" คำนวณจะเท่ากับความเป็นจริงที่กำลังจะเป็นไปหรือไม่ ?

ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ในวันที่ 26 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ที่มี "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ จะถูกจับตาเป็นพิเศษ

เนื่องเพราะ หนึ่งในวาระที่คาดว่าจะมีการนำเข้าที่ประชุม คือผลการประชุมของคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับดำเนินการทางวินัย ที่จะชี้ชะตา "โจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

วงในล้วงลับผลการประชุมได้ความมาว่า อนุ ก.ตร.วินัย ที่มี “พล.ต.อ.วินัย ทองสอง” กรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เป็นประธานคณะพิจารณากรณี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. ส่งเอกสารสำนักงานกฤษฎีกา เรื่องถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน เพิ่มเติมให้พิจารณา คำสั่งให้ “โจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ผลการพิจารณา มีความเห็นว่า “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” มีคดีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ จนถูกดำเนินคดีอาญา หากคงให้พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ อยู่รับราชการในหน้าที่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ!

ขณะเดียวกัน การที่ “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร” ในฐานะรักษาการ ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ออกจากราชการไว้ก่อน ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งพักราชการ และการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ปี พ.ศ.2547เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบ และกฎหมายทุกประการ

ส่วนกรณีที่ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อ กพค.ตร. การพิจารณาวินิจฉัย เป็นอำนาจหน้าที่ของ กพค.ตร.
ทีนี้วกกลับมากรณีข้อสังเกตของกฤษฎีกา ตามที่ “วิษณุ เครืองาม” แถลงนั้น สตช. หรือ ก.ตร. มิได้เป็นผู้หารือ กับทั้ง ศาลปกครองสูงสุด เคยวินิจฉัยไว้ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 17/2559 ว่า “ข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานของรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องถือปฏิบัติ”

เพราะฉะนั้น การดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤฎีกา ย่อมเป็นไปตามดุลยพินิจ และนโยบายของแต่ล่ะหน่วยงาน
“วิษณุ เครืองาม”และ "โจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ทราบแล้วเปลี่ยน!

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - อิทธิพร บุญประคอง
** จับตา4 รูปแบบทุจริตเลือกสว. ผู้เข้ารอบมาเลือกระดับประเทศ ค่าตัวพุ่งหลักแสน หลักล้าน

การเลือกสว.ระดับประเทศ กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ที่อาคารศูนย์การประชุมอิมแพกฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายก่อนจะได้ สว.200 คน ไปปฏิบัติหน้าที่

จากรอบแรก ที่เป็นการเลือกระดับอำเภอ มีผู้ผ่านเข้ามาสู่รอบระดับจังหวัด 23,645 คน จากนั้นมีผู้ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด สู่ระดับประเทศทั้งหมด 3,000 คน

สำหรับขั้นตอนการเลือกในระดับประเทศนั้น จะมีเลือกกัน 2 รอบ

รอบที่ 1 การลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน โดยผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัด แต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน10 คน โดยจะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใด เกิน 1 คะแนนมิได้

ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 40 คน แต่มีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ให้เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้นเท่าที่มีอยู่

กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 20 คน ผอ.การเลือกระดับประเทศ จัดให้ผู้ซึ่งไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่เลือก ลงคะแนนเลือกกันเองใหม่ เพื่อให้ได้ จำนวน 20 คน

จากนั้นดำเนินการแบ่งสาย โดยให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ส่งตัวแทนเพื่อจับสลากแบ่งสาย จำนวนไม่เกิน 4 สาย สายละ 3-5 กลุ่ม

รอบที่ 2 การลงคะแนนเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ในกลุ่มอื่นแต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน โดยจะลงคะแนนให้แก่ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มเดียวกัน หรือเลือกตนเองมิได้

การนับคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ของกลุ่มนั้น เมื่อมี 20 กลุ่ม ก็จะได้ สว.200 คน ไปทำหน้าที่ในสภา

ส่วนผู้ได้คะแนนลำดับที่ 11–15 ของแต่ละกลุ่ม อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น จึงมีผู้ที่ติดบัญชีสำรองทั้งหมด100คน

จากนั้น ผอ.การเลือกระดับประเทศ รายงานผลการนับคะแนนพร้อมรายชื่อสว.ให้ กกต.ทราบ เมื่อ กกต.ได้รับประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ถ้า กกต.ตั้งเห็นว่า การเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือก ในราชกิจจานุเบกษา และแจ้งรายชื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
แม้เจตนารมณ์ของการได้มาซึ่ง สว.นั้น ต้องการให้ปราศจากการเมืองแทรกแซง แต่ในทางปฏิบัตินั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเลือกบุคลากรที่มีความสำคัญในระดับนี้ จะปลอดการเมืองนั้นเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น ในรอบแรกๆ จึงมีข่าวว่าพรรคการเมืองระดมคนมาสมัคร บางคนสมัครไม่ตรงกลุ่มอาชีพ มีการฮั้วในรอบการเลือกกันเอง
ถึงวันนี้ ผู้ที่ผ่านระดับจังหวัดมาได้ 3,000 คน ก่อนจะถูกเลือกให้เหลือ 200 คนนั้น แต่ละคนจึงมี “ค่าตัว” สูงลิ่ว ระดับหลักแสนต่อคน หรือ หลักล้าน ถ้าสามารถรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้

จากการเปิดเผยของคนวงใน กกต. บอกว่าในรอบระดับประเทศ ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายนี้ กกต.กำลังจับตาการทุจริตใน 4 รูปแบบ

1. ผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัด มีการต่อรองขอตำแหน่ง หรือเรียกรับผลประโยชน์หลักแสนบาท แลกกับการลงคะแนนเลือกให้เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับประเทศ

2. การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง ที่หนุนหลังผู้ได้รับเลือกเป็นสว.ระดับจังหวัด พยายามเก็บตกผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัดรายอื่น เพื่อให้กลุ่มของตนเองมีผู้มีสิทธิ์เลือกมากที่สุด

3. พบว่ามีคนกลางจองห้องพักโรงแรม บริเวณใกล้สถานที่เลือก และนัดรวมตัวกันก่อนวันเลือก เพื่อล็อบบี้ และเช็กคะแนนเสียง โดยนำจำนวนเสียงที่รวบรวมได้ ไปเรียกรับประโยชน์หลักล้านบาท เพื่อแลกกับการลงคะแนนสนับสนุน

4. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการติดต่อไปยังผู้ได้รับเลือกเป็นสว.ระดับจังหวัด ในพื้นที่ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มาอยู่กลุ่มตน โดยอ้างว่าจะสนับสนุนให้เป็น สว.

พฤติการณ์ดังที่กล่าวมานี้ พบกระจายอยู่หลายพื้นที่ และพบมากในพื้นที่ภาคเหนือ

การเลือกสว.ที่หนีไม่พ้นกับการยึดโยงถึงพรรคการเมืองนั้น แม้แต่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ยังเปรยว่าการเลือกครั้งนี้ จะมี “สว.สีส้ม” ซึ่ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องออกมาแก้เกี้ยวว่า ไม่ต้องเอาสีมาป้าย ผู้ที่ได้เป็น สว. ไม่จำเป็นต้องมีนามสกุล “สีส้ม”

มีการประเมินกันว่า สว.ชุดใหม่นี้ จะประกอบไปด้วยกลุ่มหลักๆ คือ 1. ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า (สายอนุรักษ์นิยม) 2.ตัวแทนกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ 3.กลุ่มตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งก็มีทั้งสีแดง สีส้ม 4. สัดส่วนของ สว.สายประชาชน แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็ช่วยทำให้องค์ประกอบโดยรวมดูดีขึ้น

เชื่อว่าหลังการเลือกสว.เสร็จสิ้นลง ก็จะมีผู้ร้องเรียนว่ามีการทุจริตในขั้นตอนการเลือกสว. และเชื่อว่า “อิทธิพร บุญประคอง” ประธานกกต. ก็คงจะทำแบบเดิมคือ ประกาศรับรองไปก่อน แล้วสอยทีหลัง แม้ที่ผ่านมาในการเลือกสส. แทบจะสอยใครไม่ได้เลยก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น