ที่ปรึกษานายกฯ แถลงผลสอบ “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” ไม่ฟันใครผิดถูก พบขัดแย้งทั้ง สตช. ส่ง ผบ.ตร.คืน สตช.เหตุไม่มีอะไรสอบต่อ มอบ ยธ.- กฤษฎีกา หารืออำนาจพิจารณาคดี เลิกโยนไปมา แนะหันหน้าทำเพื่อ ปชช. ยันคดีเดินต่อ ชี้มี 3 ต้นตอใหญ่ ทำวงการ ตร.วุ่น ระบุ “โจ๊ก” ยังมีลุ้น ผบ.ตร.แต่ต้องเคลียร์คดีก่อน
วันนี้ (20 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานตรวจสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจและไม่พอใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว นายกฯจึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อประมวลเรื่องราวว่ามีความเป็นมาอย่างไรเพื่อจะได้แก้ไขต่อไปในอนาคต โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้ตั้งอนุคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดและได้สอบพยานหลายคนกว่า 50 คน รวมถึงสอบสวนคู่กรณี ใช้เวลา4 เดือน ทั้งนี้ ความวุ่นวายของคดีดังกล่าวต้องยอมรับว่ามาจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง บงการตำรวจ และมีต้นเหตุมาจากสามเรื่องใหญ่คือ ยาเสพติด พนันออนไลน์ และหนี้นอกระบบ ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายเพราะเป็นต้นทางที่ต้องการเงินไปซื้อตำแหน่ง
นายวิษณุ กล่าวว่า สรุปผลการตรวจสอบ พบว่า 1. มีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นใน สตช.จริง และมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับทุกฝ่าย มีการฟ้องร้องกันภายนอกและภายในสำนักงานแห่งชาติ 2. เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันพร้อมกับบุคคลสองคน คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และทีมงานใต้บังคับบัญชาสองฝ่ายเกิดความขัดแย้งกันด้วย เช่น คดี 140 ล้านบาท หรือเป้รักผู้การเท่าไหร่, คดีกำนันนก, คดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่และเว็บพนันออนไลน์บีเอ็นเค และยังมีคดีย่อยแยกไปอีก 10 คดี ที่กระจายไปตามสถานีตำรวจและอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้ง สน.และในส่วนกลาง 3. ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตำรวจ อัยการ ศาล ว่าไปตามขั้นตอนปกติ 4. บางเรื่องเกี่ยวพันกับกระบวนการนอกกระบวนการยุติธรรม เช่น ป.ป.ช.ที่รับไปดำเนินการแล้วโดยมีเจ้าของคดีรับดำเนินการแล้วทั้งสิ้น ไม่มีตกค้างอยู่ที่ สตช. 5. ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติราชการในหน้าที่เดิม เนื่องจากไม่มีอะไรสอบสวนแล้วส่วนคดีต่างๆ ให้ดำเนินการไปตามสายงานส่วนการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยให้เป็นเรื่องของ สตช. โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้ชี้ว่าใครถูกหรือผิด ส่วนจะกลับไปเมื่อใดขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
นายวิษณุ กล่าวว่า 6. พบความยุ่งยากสับสนของการสอบสวน นอกจากนั้น เรื่องความสับสนในอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าจะเป็นของตำรวจ ป.ป.ช., ปปง., ปปท.หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยคณะกรรมการได้เสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจในเรื่องอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก จะอยู่ในอำนาจดดำเนินการของใคร เพราะถ้าเรื่องไปถึงศาล ศาลก็อาจจะยกฟ้องได้ ดังนั้นควรจะดำเนินการให้เพื่อเป็นคู่มือให้ผู้เกี่ยวข้องได้เก็บไว้ว่าทุกหน่วยคิดเห็นตรงกัน มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องโยนกันไปมาว่าเป็นอำนาจตำรวจสอบสวน หรือ ป.ป.ช.เป็นคนสอบสวน ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทเรียนที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
นายวิษณุ กล่าวว่า นายกฯ ได้รับทราบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปคือคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงยุติธรรมที่มีคณะกรรมการประสานงานกระบวนการยุติธรรมที่จะไปตรวจสอบเรื่องของเขตอำนาจในกรณีที่เขตอำนาจศาลต่างกันจะมีกรรมการชี้ขาดอย่างไรในคดีปกครองแต่ในคดีอาญาในชั้นสอบสวนไม่มีคนชี้ขาดดังนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงต้องดำเนินการฟ้องและออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีส่งตัว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมและดำเนินการอย่างอื่นเป็นเรื่องที่สตช.และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น เรื่องการสอบวินัย หรือจะต้องสอบบุคคลบุคคลอื่นเพิ่มเติม
นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีผลการสอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นแบบที่เคยสั่งมาในอดีตตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2505 แต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ 2565 ได้เพิ่มไว้หนึ่งมาตราว่าในกรณีที่การสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนและไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจะต้องทำโดยคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะโดยคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ได้มีการออกคำสั่งซ้ำคำสั่งติดต่อกัน คือคำสั่งเรียก พล.ต.อ.สุรเชษฐ กลับสตช.และตามด้วยคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที จึงเป็นปัญหาและได้ส่งเรื่องนี้ไปหารือกรรมคณะกรรมการกฤษฎีกาและมีมติต่อ10ต่อศูนย์ เห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ เช่น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะต้องทำโดยคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้ไม่ได้ผ่านคณะกรรมการ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้องและชอบธรรม จึงเห็นควรให้แก้ไขให้ถูกต้อง จึงเป็นอำนาจของสตช.จะดำเนินการ ดังนั้น สถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลฯให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนกฏหมายหรือไม่ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้นำเรื่องไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
“นายกฯ ขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองในทางราชการ ส่วนตัวใครจะทำผิดให้ว่าไปตาม กฎหมาย แต่ให้ทำงานเพื่อให้บังเกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและกระทบภาพลักษณ์ตำรวจ และเชื่อว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะเบาบางลง เพราะตลอดเวลา4เดือนทั้งสองฝ่ายได้พบปะพูดจาและกรรมการได้เข้าไปไกล่เกลี่ยในบางเรื่องแต่ไม่ใช่การซูเอี๋ย หรือเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะมีคดีปักหลังกันทุกคนแต่ให้ทำงานร่วมกันต่อจากนี้ไม่เช่นนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่มีหัวมีแค่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ที่ทำงานไม่ไหวจำเป็นต้องมีคนเข้าไปช่วย ตามนโยบายที่ต้องการแก้ไขใน 3 ประเด็นที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือ เรื่องยาเสพติดหวย พนันออนไลน์ และหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ รายงานผลตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ผูกพันกับหน่วยงานใดแต่เป็นข้อมูลที่จะแจ้งและยินดีที่จะส่งข้อมูลไปให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ รวมทั้งป.ป.ช. ทั้งนี้รายงานสามารถใช้ในการต่อสู้คดีหรือการสั่งฟ้องคดี เพราะมีการสอบพยานจำนวนหลายหลายคน มีการบันทึกเก็บไว้จำนวนมาก โดยรายงานการตรวจสอบจะเก็บไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี และให้หน่วยงานมาขอรับไปดูได้“
ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ผลการสอบให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับ สตช.ถือเป็นการล้างมลทินให้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ล้างมลทิน คดีเดินหน้าตามปกติ โดยคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช.ก็ยังต้องดำเนินการตรวจสอบดำเนินการต่อไป กรณีนี้จะต้องมีข้อยุติว่าใครถูกใครผิด และต้องดำเนินคดีเหมือนกับบุคคลธรรมดาทั่วไป ทั้งนี้ การนำบุคคลทั้งสองออกมาจากสตช.ก่อน เอาออกมาเพื่อตรวจสอบวินัยและคดีต่างๆจนนำไปสู่การแก้ไข ในอนาคต
เมื่อถามว่า การส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย นายวิษณุ กล่าวว่า คงเรียบแต่ไม่ร้อย คงจะจบสงบไปได้และคงปรองดองในส่วนราชการ แต้จะมีอะไรกินใจ เวลามีคงไม่ไม่กี่เดือนคงจะหาผบ.ตร.คนใหม่แล้ว ปัญหาอ่อนลง แต่คงไม่หมดไป เนื่องจากความขัด มีมาตั้งแต่ปี 2557
เมื่อถามว่า รายงานผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเป็นการสะสางปัญหาใน สตช.และทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าสะสาง เพราะฟังดูอาจจะคิดว่าเจ๊ากัน แต่ไม่ใช่เพราะจะต้องมีคนถูกและผิด และถูกดำเนินคดีเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป เรื่องนี้ไม่ใช่การฟอกขาวและไม่มีเป็นการฟอกขาวการ แต่ให้ทั้งคู่กลับไปทำหน้าที่ของตัวเองตามที่รับผิดชอบอย่าวอกแวก ส่วนคดีใน ป.ป.ช.และหน่วยงานอื่นก็ไปต่อสู้คดีกันไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีโอกาสที่จะได้รับพิจารณาในการเป็น ผบ.ตร หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สถานะของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อยู่ในระหว่างให้ออกจากราชการไว้ก่อนแต่ขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์กราบบังคมฯ เพราะกระบวนการยังไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ใครที่เป็น รอง ผบ.ตร. ก็มีโอกาสถูกพิจารณาขึ้นเป็น ผบ.ตร.ได้ทั้งนั้น และในกฎหมายตำรวจได้เขียนไว้ว่าไม่ให้เอาสาเหตุนี้มากำหนดไม่ให้บุคคลได้รับการพิจารณาในการดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้ ในกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หากจะมีการพิจารณาเรื่องออกจากราชการ ทาง สตช.ก็ต้องไปทำให้ถูกต้อง เพราะในรายงานของคณะกรรมการ มีระบุเอาไว้ว่า บุคคลทั้งสองทำไม่ถูกต้องในเรื่องอะไรบ้าง ส่วนจะชี้ว่าใครถูกใครผิดก็ไปก็ต้องไปที่หน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา ทั้งนี้ ไม่ขอตอบว่าคำสั่งที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่ให้คนมีอำนาจชี้ขาด แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีคำสั่งขอตัวกลับ แล้วตั้งกรรมการสอบยังไม่เคยเห็นหน้ากัน ก็ปลดปุ๊บ ทำแบบปุ๊บปั๊บ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 2 จึงบอกว่าให้ไปทำให้ถูกต้อง
เมื่อถามย้ำว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีโอกาสลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มี
เมื่อถามถึงเอกสารคำสั่งนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับ สตช.ที่หลุดออกมาก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเอกสารหลุดได้อย่างไร แต่ทราบว่า ก่อน 1-2 วัน ว่าจะกลับแต่ตัวคำสั่งยังไม่มีผล จนกว่านายกฯจะลงนาม