“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ตอน ล้ม กม.เปลี่ยนคำนำหน้า 'เพื่อไทย' วัดกระแสแรงต้าน สะเทือน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
มติเสียงข้างมาก 256 ต่อ 152 เสียงของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ในการไม่รับร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเสนอโดยส.ส.พรรคก้าวไกล ถือว่ามีนัยทางการเมืองไม่น้อยและอาจมีแรงสะเทือนตามมาอีกหลายระลอก
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดนิยามบุคคลข้ามเพศหรือบุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ มีสิทธิขอให้มีการรับรองเพศตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศของตน เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถเปลี่ยนคำหน้านามตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง
เช่น ตัวเป็นชายใจเป็นหญิง จะเลือกใช้คำว่า 'นาย-นาง-นางสาว' ก็ได้ เช่นเดียวกับ ตัวเป็นหญิงใจเป็นชาย ก็มีสิทธิใช้คำว่า 'นาย' โดยให้ระบุลงในเอกสารทางราชการได้เช่นกัน
พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างมาก เพื่อให้สอดรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มีแนวโน้มว่าสภาฯจะเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ปรากฎว่าความตั้งใจของพรรคก้าวไกลไปไม่ถึงฝั่ง โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นจระเข้ขวางคลอง
เหตุผลหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้อ้างเพื่อไม่สนับสนุนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล เนื่องจากต้องการให้รอร่างกฎหมายที่จะเสนอโดยภาคประชาชนก่อน แต่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย
เพราะมองว่าเมื่อสภาฯรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประชาชนก็สามารถเสนอความคิดเห็นได้อยู่แล้ว สุดท้ายเมื่อต้องตัดสินด้วยเสียงข้างมาก พรรคก้าวไกลจึงต้องแพ้ไปโดยปริยาย
จากมติที่เกิดขึ้นทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่าที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนในเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศอย่างไรกันแน่
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเคยมีจุดยืนที่แน่วแน่ที่จะผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยตอกย้ำด้วยการที่ 'แพทองธาร ชินวัตร' หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปร่วมงาน “บางกอกไพรด์ 2023" (Bangkok Pride 2023)” เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย และพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 แต่ปรากฎว่าเมื่อตัดสินใจสลัดมือจากพรรคก้าวไกล และดึงพรรคสองลุงมาร่วมรัฐบาล จุดยืนต่อประเด็นนี้ก็เริ่มอ่อนลงและปรากฎให้เห็นจากมติของสภาฯเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่เริ่มเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ไม่อยากเข้าไปแตะเรื่องละเอียดอ่อนมากเกินไป เนื่องจากพรรคประชาชาติ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่มีฐานเสียงเป็นคนมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เห็นด้วยกับวาระทางสังคมนี้ชัดเจน ทำให้พรรคเพื่อไทยมองว่าถ้าเลี่ยงก็อยากจะเลี่ยงและไม่รับเผือกร้อนนี้เข้ามาไว้ในมือ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้พรรคประชาชาติลำบากใจ เพราะพรรคประชาชาติในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรมก็คอยเอากระดูกมาแขวนคอจนพานายใหญ่ได้กลับบ้านสำเร็จ
แต่กระนั้น เรื่องอาจไม่จบลงแค่ตรงนี้ เพราะอาจจะลามไปถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ท้าทายระบบจารีตนิยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จริงอยู่ในวาระที่หนึ่งจะให้การสนับสนุน แต่ก็เป็นการยกมือให้แบบเสียไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่ากระแสเรื่องนี้ค่อนข้างแรง จนพรรคเพื่อไทยไม่อยากพลาดรถไฟขบวนนี้
ร่างกฎหมายสมรเท่าเทียม นอกจากพรรคประชาชาติที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยแล้ว 'วุฒิสภา' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีจริตความเป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ก็อาจไม่รับเรื่องทำนองนี้ได้เช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่ถึงที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยก็คงเลือกที่จะทิ้งเรื่องนี้ เพราะไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน
ดังนั้น การคว่ำร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นการโยนหินถามทางเพื่อดูว่าจะมีกระแสต่อต้านแรงแค่ไหน ก่อนที่จะไปฉีกร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในอนาคตนั่นเอง
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android