MGR Online - ดีเอสไอ รวบรวมหลักฐานเรียกบุคลากรทางการแพทย์แจ้งข้อกล่าวหา 1 ราย ฐานเอี่ยวลักลอบอุ้มบุญ คาด ส่งสำนวนอัยการต้นเดือน พ.ย.นี้ เตรียมขยายผลเอาผิดนายทุน
วันนี้ (20 ต.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ พร้อม นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ และ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมแถลงความคืบหน้าคดีอุ้มบุญผิดกฎหมาย คดีพิเศษที่ 236/2565
นางพิชญา เผยว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้ดำเนินคดีพิเศษที่ 236/2565 กรณี ขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ในจ.หนองคาย กรณี เด็กชายแทนไท (นามสมมติ) และเข้าตรวจค้นสถานพยาบาล 3 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามหมายค้นศาลอาญาที่ 995-997/2566 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 พร้อมยึดพยานหลักฐานต่างๆ พบทำเป็นขบวนการ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ หญิงสาวอุ้มบุญผิดกฎหมาย นายทุนต่างชาติ ก่อให้เกิดปัญหาคดีค้ามนุษย์ ค้าอวัยวะ ค้าประเวณี และอุตสาหกรรมทางเพศ
ด้าน ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าวว่า ล่าสุด วันนี้ (20 ต.ค.) คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน โดยได้สอบสวนปากคำพยานที่เกี่ยวข้องจำนวน 29 ราย ได้ผลการตรวจสอบ พิสูจน์ วิเคราะห์วัตถุพยาน เอกสาร และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจากปฏิบัติการตรวจค้นสถานประกอบพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา นำไปสู่พยานหลักฐานสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เชื่อมโยงไปยังบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลต่างชาติที่เป็นเจ้าของสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคลากรทางการแพทย์แล้ว 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ดูแลหญิงตั้งครรภ์พาไปฝังไข่จากต่างประเทศเข้ามาในไทยจนตั้งครรภ์จนเด็กคลอดออกมา ส่วนอีก 1 ราย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ อยู่ระหว่างการติดตามตัวให้มารับทราบข้อกล่าวหา
ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้จับกุมผู้หญิงที่รับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายแล้ว 7 ราย, ออกหมายจับนายหน้าจัดหาหญิงอุ้มบุญ จำนวน 3 ราย จับกุมได้แล้ว 1 ราย และ บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าของสถานประกอบการอีก 2 ราย รวมทั้งหมด 12 ราย คาดว่า จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นทางคดีส่งไปยังพนักงานอัยการ ภายในต้นเดือน พ.ย.นี้
ร.ต.อ.ทินวุฒิ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสจากภาคประชาชนและได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กองกฎหมาย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และแพทยสภา ด้วยการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และนำไปสู่มาตรการต่างๆ อาทิ การพักใบอนุญาต ถอนใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ เปรียบเทียบปรับ หรือ ปิดสถานพยาบาล เป็นต้น
“ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะยังคงขยายผลการสืบสวนสอบสวนจากคดีนี้ไปยังนายทุน ตัวการ และผู้ร่วมกระทำความผิดอุ้มบุญผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อป้องกันและปราบปรามไม่ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอุ้มบุญผิดกฎหมายข้ามชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณสุข และเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง รวมทั้งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงด้านความปลอดภัยสาธารณะของประเทศ”