MGR Online - กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา ดีเอสไอ เข้าค้นร้านค้าจำหน่ายแบรนด์เนมปลอม 3 จุด ในภูเก็ต ยึดของกลาง 4,500 ชิ้น มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท เอาผิดเจ้าของร้าน
วันนี้ (20 ต.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ท.ยุทธนา ตั้งกอบลาภ รอง ผอ.กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา พร้อม นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการจับกุมผู้ค้าแบรนด์เนมปลอมรายใหญ่ใน จ.ภูเก็ต กว่า 4,500 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 7 ล้านบาท
พ.ต.ท.ยุทธนา เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าปลอม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพพจน์การท่องเที่ยวและส่งผลกระทบต่อภาพจลักษณ์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยในระดับสากล ต่อมา วันที่ 17 ต.ค. 66 ร.ต.อ.พลสัณห์ เทิดสงวน ผอ.กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา, น.ส.จารุวรรณ ครุสาตะ ผอ.ส่วนคดีทรัพย์สินทางปัญญา 1 พร้อม เจ้าหน้าที่กองคดีทรัพย์สินทางปัญญาและเจ้าหน้าที่กองปฏิบัติการพิเศษ ร่วมกันนำหมายค้นศาลจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 หมาย เข้าค้นพื้นที่ 3 จุด ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
“เจ้าหน้าที่กองคดีทรัพย์สินทางปัญญาได้ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ ก่อนขอเข้าการตรวจค้นโกดังที่มีการดัดแปลงเป็นห้องลับสำหรับซุกซ่อนสินค้าประเภทกระเป๋า นาฬิกา รองเท้า น้ำหอม ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไว้สำหรับจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเท่านั้น โดยหน้าร้านเปิดเป็นร้านขายกระเป๋าแบรนด์เนมปลอมแต่มีการวางจำหน่ายสินค้าจำนวนไม่มาก”
พ.ต.ท.ยุทธนา เผยว่า ผลการตรวจค้นพบของกลางประเภทกระเป๋า นาฬิกา เสื้อผ้า ฯลฯ ปลอมเครื่องหมายการค้า หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) ดิออร์ (Dior) แอร์เมส (Hermes) แท็ก ฮอยเออร์ (Tag Heuer) กุชชี่ (Gucci) โรเล็กซ์ (Rolex) ไนกี้ (Nike) คาร์เทียร์ (Cartier) เป็นต้น อยู่ภายในห้องลับ เป็นจำนวนกว่า 4,500 ชิ้น มูลค่าความเสียหายเกินกว่า 7 ล้านบาท เมื่อผู้เสียหายได้ชี้ยืนยัน เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดสินค้าทั้งหมดนำมาตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดความผิดต่อไป โดยในการตรวจค้นครั้งนี้มีตัวแทน บริษัท หลุยส์ วีตตอง มาเลอติเย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย และเป็นเจ้าของร้านทั้ง 3 แห่ง เบื้องต้นเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป