รมว.ดีอี ยกเครื่องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ เร่งพัฒนาความรู้ และทักษะเรื่องอาชญากรรมออนไลน์แก่บุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมปราบปราม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหา โจรออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ การหลอกลวงออนไลน์มีความรุนแรงมาก ในระยะเวลา 1 ปี 7 เดือน ตั้งแต่มีนาคม 65-กันยายน 66 มีจำนวนคดีมากถึง 336,896 คดี เฉลี่ยวันละ 585 คดี ความเสียหายสูงถึง 45,700 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 80 ล้านบาท การทำงานป้องกันปราบปรามแบบเดิมๆ คงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
นอกจากการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online Scam Operation Center) การตั้งทีมเฉพาะกิจปราบโจรติดตามเส้นทางการเงิน การดึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ช่วยงาน ดีอี และอีกหลายเรื่องเพื่อป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์
“ในวันนี้ จะมีการบูรณาการดึงกำลังของหลายหน่วยงาน ในการเสริมความรู้บุคลากรของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในแง่ทักษะเรื่องอาชญากรรมออนไลน์สมัยใหม่ วิธีการสืบสวนสอบสวน การเก็บ รวบรวม พิสูจน์หลักฐาน และวิธีการทำงานเรื่องโจรออนไลน์ของต่างประเทศ เพื่อร่วมปราบโจรออนไลน์”
ภายใต้การอบรม “การเตรียมความพร้อมผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน” เป็นการอบรมอย่างเข้มข้น ระยะเวลา 5 วัน ก่อนการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์
โดยมีบุคลากรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลายกองบัญชาการ เช่น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาสืบสวนสอบสวนการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เป็นต้น รวมทั้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (dsi) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ของกระทรวงยุติธรรม และ กรมสรรพากร ของกระทรวงการคลัง เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ประมาณ 100 คน ซึ่งเมื่ออบรมจบ 5 วันเต็มแล้วจะต้องมีการทดสอบความรู้ก่อนถึงจะได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.คอมพ์
สำหรับหัวข้อในการอบรม ประกอบด้วย อาชญากรรมออนไลน์สมัยใหม่ กฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ วิธีการสืบสวนสอบสวน การพิสูจน์หลักฐานการสืบสวนทางเทคนิค การตรวจสอบหมายเลข IP Address แหล่งที่มาของการกระทำความผิด การวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล/พยานหลักฐานข้างต้น (Principles of Computer Forensics and Digital/Electronic Evidence Crime scene, Digital/Electronic Evidence and Chain of Custody) การเก็บ การตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลโดยใช้โปรแกรมเฉพาะทาง การรักษาความปลอดภัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และวิธีการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมออนไลน์ของต่างประเทศ เป็นต้น
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวเสริมว่า ดีอีต้องดึงกำลังของหน่วยงานต่างๆ เร่งเพิ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ เร่งให้ความรู้และเครื่องมือทันสมัยปราบโจรออนไลน์ สำหรับระยะเร่งด่วนใน 2 เดือนนี้ ตั้งเป้าหมายพัฒนาพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ได้จำนวน 500 คน
“ดีอีจะมีการจัดอบรมและสอบพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์โดยเร็ว จากวันนี้อีก 3 รุ่น เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการป้องการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และขอเชิญชวนหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์ หรือ หน่วยงานที่มีความสนใจพัฒนาทักษะความรู้ ด้านอาชญากรรมออนไลน์สมัยใหม่ สามารถติดต่อมาที่ดีอีได้ ซึ่งอาจเป็นการอบรมพัฒนาทักษะความรู้ โดยไม่ต้องสอบเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ก็ได้ ดีอียินดีหารือเพื่อจัดหลักสูตรที่เหมาะสมตามความต้องการของหน่วยงานได้”
สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์มีอำนาจหน้าที่ในการเรียกพยานหลักฐาน สืบสวนสอบสวน ตาม พ.ร.บ.คอมพ์ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูล การใช้อำนาจในทางมิชอบมีความผิด โทษจำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ การจัดอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพ์เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง มีความรู้และทักษะสำคัญในการสืบสวนสอบสวน เก็บรวมรวมพยานหลักฐานทางดิจิทัล ใช้โปรแกรมเฉพาะทางดิจิทัล รู้จักการวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลสมัยใหม่ รู้วิธีการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่เหมาะสม ทั้งของไทยและวิธีการในต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ของไทย แก้ปัญหาให้คนไทยโดยเร็ว