xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธ. เปิดพิธีปฏิญาณตน “ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต” ครบ 21 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - “ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม เป็นประธานพิธีกล่าวปฏิญาณตน “ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต” ในโอกาส ครบ 21 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ

วันนี้ (3 ต.ค.) เวลา 7.30 น. ณ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีปฏิญาณตน “ข้าราชการและบุคลากร DSI ไร้ทุจริต” และประกาศคำมั่นสัญญา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการยึดถือค่านิยมร่วม “เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ และซื่อสัตย์” ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เป็นที่ประจักษ์สู่สาธารณชน โดยในพิธีปฏิญาณตนครั้งนี้ ประกอบด้วย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ , ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย ข้าราชการและบุคลากรกรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 1,000 คน ร่วมกล่าวคำปฏิญาณตนด้วยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต และยึดถือหลักธรรมาภิบาล อย่างเข้มแข็ง

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบรอบปีที่ 21 ในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจฟันฝ่าอุปสรรค เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ คืนความยุติธรรมและความผาสุกให้กับประชาชน

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2545 เพื่อทำหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนและดำเนินคดีพิเศษ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพในทุกด้าน พร้อมทั้งยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตและความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่งผลให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของประชาชน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะ 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนงานปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ดังนี้

ด้านที่ 1 ยกระดับการสืบสวนสอบสวนสู่มาตรฐานสากล มุ่งเน้นคดีที่มีผลกระทบสูง ในวงกว้าง มีมาตรการทำงานเชิงรุก พัฒนากระบวนการสืบสวนสอบสวนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ปรับปรุงกระบวนงาน เพื่อให้ผู้รับบริการเข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด การดําเนินคดีต้องสำเร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความครบถ้วนในพยานหลักฐานเป็นสำคัญ ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ

ด้านที่ 2 พัฒนาทรัพยากรบุคคลมืออาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาทักษะการสืบสวนสอบสวน และทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาความเชี่ยวชาญในแต่ละสายงาน จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรให้มีความชัดเจน มีหลักสูตรที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกระดับ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมระบบสวัสดิการและจัดตั้งกองทุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุคลากรภายใน

ด้านที่ 3 บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และทุกมิติ เน้นการทำงานป้องกันและป้องปรามเชิงรุก เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมคดีพิเศษ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอำนวยความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา และส่งมอบคุณค่าให้กับสังคม/ชุมชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ (CSR การอำนวยความเป็นธรรม) อย่างทั่วถึง

ด้านที่ 4 พัฒนาและขับเคลื่อนองค์การตามหลักธรรมาภิบาล ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน มุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม พัฒนานวัตกรรมการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สะดวก รวดเร็ว และประหยัด ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเกณฑ์การบริหารจัดการภาครัฐ PMQA และเกณฑ์ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ (ITA)

กรมสอบสวนคดีพิเศษ มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยกระดับมาตรฐานการทำงานขององค์กร




กำลังโหลดความคิดเห็น