MGR Online - “ดีเอสไอ” สอบปากคำ จนท.ศุลกากรแหลมฉบัง คดีลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนแช่แข็ง 161 ตู้ ไม่ผ่านการตรวจโรคระบาด ขยายผลผู้เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ
จากกรณี กรมศุลกากร ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีบุคคลและนิติบุคคล ซึ่งมีส่วนร่วมในขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งหรือ “หมูเถื่อน” จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทั้งยังมีพฤติการณ์การสำแดงเท็จเนื้อหมูดังกล่าวเป็นอาหารแช่แข็งและไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นเหตุให้ผลการประเมินราคาสินค้าทั้งหมดมีมูลค่าราคารวมค่าภาษีอากร รวมเป็นเงิน 460 ล้านบาท ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นคดีพิเศษที่ 59/2566
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 พร้อมด้วย ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ และในฐานะรองผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ (กทศ.) และ พล.ต.ท.วัลลภ ประทุมเมือง ที่ปรึกษาคดีพิเศษ ดีเอสไอ ร่วมสอบปากคำเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในฐานะผู้กล่าวหาเอาผิดขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่เเข็ง จำนวน 161 ตู้คอนเทนเนอร์
พ.ต.ต.ณฐพล เปิดเผยหลังสอบปากคำเสร็จสิ้น ว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทเดินเรือ บริษัทนำเข้าสินค้า รวมถึงขั้นตอนวิธีการนำเข้าของสินค้าเป็นอย่างไร อีกทั้งยังชี้แจงเอกสารว่าการนำเข้าสินค้าในลักษณะนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายในส่วนใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทางสินค้า (เนื้อสุกรแช่แข็ง) ว่า มีการนำเข้ามากักไว้ตั้งแต่ช่วงเวลาใด และบริษัทนำเข้าสินค้าแต่ละแห่งเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 161 ตู้อย่างไรบ้าง
พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนครั้งของการนำเข้าสินค้าเนื้อหมูเหล่านี้ของบริษัทแต่ละแห่ง ก่อนพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะนำไปพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ว่าในการนำเข้าแต่ละครั้งมีบริษัทใดเข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนใดบ้าง เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อสุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ดังกล่าว ไม่ได้ถูกนำเข้าราชอาณาจักรในครั้งเดียว แต่เป็นการกระทำของบริษัทแต่ละแห่ง อาทิ บริษัทแห่งหนึ่งนำเข้า 1-2 ครั้ง บางบริษัทนำเข้า 3 ครั้ง บางบริษัทนำเข้าเกือบ 20 ครั้ง เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา เป็นพฤติกรรมทยอยนำเข้าเนื้อหมูมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม-เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2565 และเป็นสินค้าคงค้างที่ท่าเรือ ไม่มีบุคคลมาสำแดงสินค้า จากนั้นพนักงานสอบสวนจะใช้ข้อมูล พยานเอกสาร คำให้การเหล่านี้ของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไปตรวจสอบ แสวงหาข้อเท็จจริงว่าบริษัทแต่ละแห่งมีขั้นตอนนำเข้าเนื้อหมูอย่างไร และในวันเวลาที่นำเข้ามาใครเป็นเจ้าของบริษัท ใครรับหน้าที่สั่งสินค้า สายเรือใดที่นำเข้ามาและมีต้นทางมาจากที่ไหน เพื่อจะเข้าสู่ขั้นตอนการแยกรายละเอียดพฤติการณ์ของแต่ละบริษัท พิจารณาความผิดต่างกรรมต่างวาระ
พ.ต.ต.ณฐพล เผยต่อว่า ส่วนชิปปิ้งเอกชนทั้ง 11 แห่ง เราก็จะพิจารณาในรายละเอียดทุกอย่าง ทั้งพยานหลักฐาน พยานบุคคล พยานเอกสาร คำให้การ ให้ครบทุกมิติเพื่อพิจารณาว่าจะมีรายใดเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดใดบ้าง ซึ่งเราจะยึดจากข้อกฎหมายก่อน ในส่วนของขั้นตอนพิธีการศุลกากร ว่าจะมีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และแต่ละขั้นตอนมีการทำถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่
“ชิปปิ้งเอกชนกับบริษัทนำเข้ามีบทบาทแตกต่างกัน ชิปปิ้งเปรียบเหมือนเป็นตัวแทนของบริษัท เพราะทำหลากหลาย ดังนั้น ชิปปิ้งเอกชนก็ส่วนหนึ่ง บริษัทนำเข้าก็ส่วนหนึ่ง ดีเอสไอจึงต้องมาตรวจเอกสารในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย และเอกสารของกรมศุลกากร รวมถึงเอกสารเกี่ยวกับคนสั่งสินค้า เพื่อนำไปพิจารณาว่าแต่ละบุคคลจะมีความผิดเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร” พ.ต.ต.ณฐพล ขยายความ
พ.ต.ต.ณฐพล เผยด้วยว่า ดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอีกด้วย หลังจากนี้ หากมีความชัดเจนในพยานหลักฐานหลายๆ ส่วนประกอบกันเมื่อใด พนักงานสอบสวนจึงจะเห็นความชัดเจนว่าสายเรือทั้ง 17 แห่ง บริษัทชิปปิ้งเอกชน 11 แห่ง และบริษัทนำเข้าสินค้าใดบ้างที่จะมีความผิดตามพยานหลักฐานปรากฏ
พ.ต.ต.ณฐพล ยังระบุว่า สำหรับการอนุมัติทำลายฝังกลบเนื้อหมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้ ที่เบื้องต้นคาดว่าจะใช้พื้นที่ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประสานกลับจากทางกรมปศุสัตว์ เพื่อนัดหมายประชุมร่วมกันทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอสไอ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ พร้อมยืนยันว่า จะมีการทำลายเนื้อหมูของกลางเร็วๆ นี้ แน่นอน และสามารถทำลายของกลางได้ระหว่างการสอบสวนทางคดี ไม่จำเป็นต้องรอให้คดีสิ้นสุดเพราะเนื้อหมูเถื่อนเหล่านี้ถือว่าเป็นของเสียง่ายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน