xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากเกษตรกร “ขอแค่ขายหมูได้พ้นต้นทุน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รวดเร็ว ฉับไว สมศักดิ์ศรีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI หลังมารับทำคดีหมูเถื่อน ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง 161 ตู้เสร็จภายใน 7 วัน ส่งผลให้มีเสียงชื่นชมกึกก้องในแวดวงเกษตรกร

 ปฐพี สวัสดิ์สุคนธ์ เขียนบทความเกี่ยวกับ การเปิดตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างเพื่อตรวจสอบของกลางในคดี “หมูเถื่อน” ณ ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วเสร็จครบถ้วนทั้ง 161 ตู้ ภายใน 7 วันทำการ (5-13 กรกฎาคม 2566) สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานที่จริงจัง รวดเร็ว ฉับไว สมศักดิ์ศรีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ส่งผลให้มีเสียงชื่นชมกึกก้องในแวดวงเกษตรกร พร้อมกับความเชื่อมั่นว่าจะได้เห็น “ตัวบงการ” ในระยะเวลาอีกไม่นาน รวมถึงมีความคืบหน้าในการเตรียมการฝังทำลายหมูเถื่อนกว่า 4.5 ล้านกิโลกรัม ในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐ

การจัดการคดีหมูเถื่อนเมื่อถึงมือ DSI แล้วนับว่าเบาใจไปได้เปลาะใหญ่ แม้ 161 ตู้นี้จะเป็นเพียงจำนวนที่โผล่พ้นน้ำออกมาให้เห็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ขณะที่ใต้ภูเขานั้นยังมีหมูเถื่อนอยู่อีกมาก ซึ่งต้องพึ่งพาการทำหน้าที่ของกรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์เป็นสำคัญ แว่วว่าแม้ในพื้นที่แหลมฉบังเองยังมีตู้ต้องสงสัยว่าเป็นหมูเถื่อนที่ยังไม่ได้เปิดตรวจสอบอีกนับร้อยตู้ ขณะเดียวกัน ผู้แทนเกษตรกรได้ประสานความร่วมมือไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่ดำเนินโครงการท่าเรือสีขาว ทั้งนี้ เพื่อขอให้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างต้องสงสัยในพื้นที่ท่าเรือคลองเตย ท่าเรือปากน้ำระนอง และท่าเรือสงขลา ด้วยแล้ว
 
อานัน ไตรเดชาพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตหมูของไทยอยู่ที่ 96 บาท/กก. แต่ราคาขายหน้าฟาร์มขายได้เพียง 60 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรอยู่ไม่ได้ หมูจะชำแหละกันที่ขนาด 100 กก. คิดกลมๆ เท่ากับขาดทุนตัวละ 3,000 บาท และในแต่ละวันประเทศไทยชำแหละหมูวันละ 50,000 ตัว หมายความว่าเกษตรกรและผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศขาดทุนกันวันละ 150 ล้านบาท
 
“ต้นทุนการผลิตหมูส่วนใหญ่อยู่ที่อาหารสัตว์ซึ่งมีราคาวัตถุดิบเป็นตัวแปรสำคัญ อย่างหมูของจีนและเวียดนาม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 75 บาท ถ้าประเทศไทยดูแลโครงสร้างและการกำหนดต้นทางปลายทางของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองให้มีโครงสร้างเหมือนในอดีต จะทำให้ต้นทุนของไทยลงมาเท่ากับประเทศอื่นเขา โอกาสที่หมูเถื่อนจะแทรกตลาดเข้ามาก็ลดลงแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะบรรเทาปัญหานี้ให้เกษตรกรหรือไม่ เพียงประกาศให้ซื้อหมูในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน และเร่งดึงราคาวัตถุดิบลงมา ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น” อานัน กล่าว
 
ธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูงต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และมีสัดส่วน 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด เมื่อผนวกกับค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแรง ค่ามาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวด จึงทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นอย่างมาก  
 
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ (มาตรา ๒๕) ระบุไว้ว่า เมื่อได้มีการประกาศกําหนดสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา ๒๔ แล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้ (๑) กําหนดราคาซื้อหรือราคาจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนด หรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในที่นี้สุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายในอยู่แล้ว
 
หากกรมฯ ประกาศคำสั่งให้ซื้อหมูในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน ย่อมนำไปสู่การจัดการต้นทุนตัวใหญ่ที่สุดให้เกษตรกร โดยการกำจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงเกินจริง จนหมูไทยสู้ราคาหมูนอกไม่ได้ เช่น การไม่ตั้งราคาขั้นต่ำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกภาระ หรือยกเลิกมาตรการนำเข้าวัตถุดิบทดแทน 3:1 ตลอดจนลดภาษีนำเข้ากากถั่วเป็น 0% เหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเหนือต้นทุน เกษตรกรก็อยู่ได้ ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารปลอดภัย ห่วงโซ่การผลิตอาหารจะทำงานได้ต่อไปอย่างยั่งยืน เป็นประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย
 
รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจในประเทศดำเนินต่อไปได้ “เกษตรกร” เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หวังพึ่งพารัฐในประเด็นเหล่านี้ และเสียงที่เกษตรกรเปล่งออกมานั้น เขาขอเพียง “ความอยู่รอด” ในอาชีพด้วยการขายผลผลิตให้พอมีกำไรเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้...เท่านั้นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น