MGR Online - โฆษกดีเอสไอ ยืนยันซากหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์ เตรียมเรียกบริษัทเกี่ยวข้องให้ข้อมูลหาผู้ร่วมกระทำผิด
วันนี้ (12 ก.ค.) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกดีเอสไอ และ น.ส.พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษกดีเอสไอ แถลงความคืบหน้าการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ 161 ตู้ ลักลอบนำเข้าซากสัตว์และสุกรเถื่อนแช่แข็งผิดกฎหมาย ในคดีพิเศษที่ 59/2566
น.ส.พิทยาภรณ์ เปิดเผยว่า ดีเอสไอรับคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีพิเศษที่ 59/2566 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 66 พร้อมเร่งดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้มีส่วนกระทำความผิด ร่วมบูรณาการกับ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ ทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยปัจจุบันดำเนินการตรวจสอบแล้วทั้งหมดจำนวน 135 ตู้ จากทั้งหมดจำนวน 161 ตู้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ (12 ก.ค.)
น.ส.พิทยาภรณ์ เผยว่า จากการตรวจสอบพบ 4 ตู้ ที่เครื่องทำความเย็นเสีย ทำให้เนื้อสุกรภายในตู้เน่าเสีย ทั้งนี้ การเปิดตู้เนื้อสุกรแช่แข็งดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเพื่อยืนยันจำนวนการนำเข้าและเพื่อตรวจยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้นำเข้าเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี โดยสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งจำนวน 161 ตู้ดังกล่าว พบเนื้อหมูลักลอบนำเข้ามา 4.5 ล้านกิโลกรัม ได้รับการยืนยันจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจโรคตาม ม.31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ การนำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคดังกล่าว จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนซึ่งตามกฎหมาย ในการนำเข้าจะต้องผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์และต้องสำแดงการนำเข้าให้ถูกประเภท
น.ส.พิทยาภรณ์ เผยอีกว่า พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และเนื้อสุกรแช่แข็งดังกล่าว ถือเป็นของอันพึงริบตามมาตรา 166 ของกฎหมายดังกล่าวด้วย ซึ่งหากสำแดงถูกต้อง รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เป็นเงินจำนวนกว่า 460 ล้านบาท โดยในสัปดาห์หน้าจะเริ่มทำลายซากสุกรเถื่อน คาดใช้งบในการฝังกลบประมาณ 12 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากกรมปศุสัตว์และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมจัดหาสถานที่ให้เหมาะสม
น.ส.พิทยาภรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลการสอบสวนของพนักงานสอบสวนพบว่า มี 11 บริษัทผู้นำเข้า และ 17 บริษัทสายเรือที่เกี่ยวข้อง โดยหลังจากนี้จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำว่าเคยมีการนำเข้าลักษณะนี้หรือไม่ หรือนำเข้าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ หรือสินค้าประเภทด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างขยายผลว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีการนำตัวอย่างเศษเนื้อสุกรไปตรวจพิสูจน์เกี่ยวกับโรคระบาดนั้น ขณะนี้กำลังรอผลจากห้องแล็บจากกรมปศุสัตว์
“ยืนยันว่า ซากเนื้อสุกรไม่มีสูญหายจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ยึดอายัดไว้ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ส่วนที่ก่อนหน้านี้อาจมีเนื้อสุกรหลุดไปตามร้านหมูกระทะหรือหน้าเขียง เบื้องต้นไม่สามารถตรวจสอบแน่ชัดได้ ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้เร่งทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรวดเร็ว เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าชิ้นส่วนเนื้อหมู รวมถึงขยายผลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระทำความผิด เพื่อเป็นการตัดวงจรความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดต่อสุกรที่เลี้ยงในเมืองไทย และคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนั้น ยังเป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงสุกรในเมืองไทยที่ลดคู่แข่งที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกฎหมาย สร้างสมดุลให้กับตลาดค้าเนื้อหมูชิ้นส่วนหมูที่เกษตรกรเลี้ยงกันภายในประเทศ” รองโฆษกดีเอสไอ กล่าว