xs
xsm
sm
md
lg

ผบช.กมค.ย้ำชัด ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิด ตร.จับดำเนินคดีได้ แต่เปรียบเทียบปรับที่ด่าน-โรงพักไม่ได้ ต้องส่งฟ้องศาลทุกราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค.
MGR Online - ผบช.กฎหมายและคดี เคลียร์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ยันครอบครองอันเดียวก็ผิดกฎหมาย ตำรวจจับกุมดำเนินคดีได้ แต่เปรียบเทียบปรับที่โรงพักไม่ได้ ต้องทำสำนวนส่งฟ้องศาลทุกราย

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) กล่าวถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจในขณะนี้ ว่า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง สินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีความผิดฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงข้อกำจัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 วางหลัก ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากเป็นการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยการสูบ ดังนั้น หากสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ก็จะมีความผิดฐาน สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

ส่วนประเด็นตำรวจสามารถจับกุมผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า หรือกำลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้หรือไม่ พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า คือ ต้องอธิบายแบบนี้ก่อนว่ามีประกาศจากกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และ พ.ศ. 2559 แต่พอมีข้อห้ามก็จะมาผิดในข้อหาเรื่องการครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ต้องทำสำนวนส่งฟ้อง ไม่สามารถทำการเปรียบเทียบปรับที่โรงพัก ที่ด่าน หรือที่อื่นๆ ได้ ยกเว้นหากเป็นการครอบครอง ตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร และผู้ต้องหายินยอม ตำรวจชุดจับกุมก็จะส่งตัวไปทำตามเปรียบเทียบปรับที่กรมศุลกากรได้
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า หากเป็นกรณีครอบครองเพื่อจำหน่ายก็จะผิดกฎหมายอีกตัว ตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งเรื่องห้ามขายหรือให้บริการสินค้าบารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่และน้ำยาบารากู่ไฟฟ้า กฎหมายบังคับทั้งตัวบุหรี่ ตัวเครื่อง และก็ตัวน้ำยาด้วย ถ้าฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท โดยปกติเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำสำนวนสั่งฟ้องทั้งหมด ส่งให้อัยการ ส่งศาล ก็จะพิจารณาพิพากษาตามบทหนักสุด
“อยากฝากไว้ว่าเมื่อกฎหมายยังมีสภาพบังคับใช้อยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังต้องบังคับตามกฎหมาย แต่หากสภาพสังคมหรือประชาชนเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายในอนาคต ก็เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายหรือทางสภาต่อไป และก็อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่าประเทศปลายทางนั้น สิ่งใดสามารถนำเข้ามาในประเทศได้ หรือสิ่งใดนำเข้ามาในประเทศไม่ได้ เป็นการแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวทราบเพื่อป้องกันการกระทำความผิดในประเทศปลายทาง” ผบช.กมค.ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น