ศรีสุวรรณ ร้อง ปปช.อ้าง ผู้ว่าฯ กทม.ละเว้นปล่อยม็อบเพ่นพล่านนอกลานคนเมือง ป่วนการประชุม APEC
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 พ.ค. 65 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้เอาผิด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เหตุละเว้นปล่อยม็อบออกมาเพ่นพล่านนอกลานคนเมือง
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนและพี่น้อง สปปส.ได้มายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการไตร่สวนผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าข่ายปล่อยปละละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากผู้ว่าฯอนุญาตให้กลุ่มม็อบหรือกลุ่มราษฎรค้านเอเปก 2022 มาจัดม็อบที่บริเวณลานคนเมือง วันที่ 16-18 ที่ผ่านมา เมื่อ กทม.อนุญาตแล้วไม่ได้เข้ามาควบคุมดูแล โดยต้องควบคุมให้ผู้ชุมนุมทำตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนเคลื่อนขบวนออกมายนอกพื้นที่จนปะทะกับตำรวจ คฝ. เกิดการบาดเจ็บ เสียหายทั้งทรัพย์สินราชการและทรัพย์สินสาธารณะจำนวนมาก ผู้ว่าฯกลับไม่ดำเนินการอะไรเลยกับเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ มาอยู่ก็ต้องควบคุม ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ พอออกมาก็ปะทะกัน แล้วเกิดการบาดเจ็บ ความเสียหายทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินสาธารณะก็เสียหาย กทม.ไม่ทำอะไรเลย ผู้ว่าฯ ไม่ทำอะไรเลย ตนว่าเรื่องนี้ปล่อยไม่ได้ ผู้ว่าฯ กทม.ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปรึกษาเขาตั้ง 2 คน ที่ต้องมาดูแลเรื่องความมั่นคง ซึ่งผู้ว่าฯได้ให้สัมภาษณ์แล้วว่าให้มาดูแล ที่ปรึกษาก็ถือว่าได้รับการแต่งตั้งโดยชอบจากผู้ว่าฯ ตนเลยจำเป็นต้องร้องเรียนด้วย ต้องสร้างบรรทัดฐานไว้ ไม่งั้นก็ปล่อยปละละเลยถือว่าประกาศแล้วไม่ได้ เรื่องเอเปกเป็นหน้าตาคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงแต่นายกฯ แล้วมาทำแบบนี้มาทำให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย โดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการได้ระบุอำนาจของผู้ว่าราชการไว้ชัดเจนในเรื่องของการควบคุมความสงบเรียบร้อย โดยผู้ว่าฯเองกฎหมายก็ระบุไว้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการควบคุมดูแลหรือเข้าไปจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายได้ การที่นิ่งเฉยเพิกเฉยกับกลุ่มม็อบที่ออกมาเพล่นพล่านป่วนเมืองถือว่าเข้าข่ายการละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตนเลยต้องมาร้องกับ ป.ป.ช. เพื่อวินิจฉัยไตร่สวนชี้มูลความผิดตามกฎหมายต่อไป การบาดเจ็บและความเสียหายของผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม การบาดเจ็บเกิดขึ้นทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจ คฝ. ตำรวจที่บาดเจ็บมีไม่ต่ำกว่า 15 คน ส่วนผู้ชุมนุมกับผู้สื่อข่าวก็มีผู้บาดเจ็บด้วย ความผิดอาญาเหมือนกัน แต่ในเรื่องค่าเสียหายต้องไปเรียกทางแพ่งได้เฉพาะบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องใช้สิทธิตามกฎหมายด้วยเช่นกัน เนื่องจากผิดเงื่อนไขตามการขออนุญาตชุมนุม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องแบ่งแยกแต่ละเคสออกไป ผู้ว่าฯอนุญาตให้ใช้ลานคนเมือง ก็ต้องดูแลให้อยู่ภายในกรอบ เมื่อเคลื่อนออกมานอกเขตผู้ว่าฯมีอำนาจในการสกัดกั้น ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ หรือฝ่ายความมั่นคงฝ่ายเดียว เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นคนอนุญาตเอง ไม่ใช่อนุญาตแล้วจะมาปัดความรับผิดชอบ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่งั้นจะมีผู้ว่าฯมากินเงินเดือน มากินภาษีประชาชนไปทำไม