วันนี้ (24 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า การที่ผู้ว่าฯกทม.ไม่ควบคุม ดูแล หรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ชุมนุมที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมคัดค้าน APEC ที่ลานคนเมือง ได้ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตโดยออกมานอกพื้นที่อนุญาตจนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันกับตำรวจ คฟ.ทำให้เกิดการบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่ายและทรัพย์สินราชการและสาธารณะเสียหายนั้นเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่
ทั้งนี้ ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.2528 ม.49 กำหนดให้ผู้ว่า กทม.มีอำนาจหน้าที่หลายประการ อาทิ (1)กำหนดนโยบายและบริหารราชการของ กทม.ให้เป็นไปตามกฎหมาย (ในที่นี้คือ พรบ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (2)บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย (3)อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น และต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร ตาม ม.50 ด้วย
นอกจากนั้นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ตาม ม.89 ยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่ามีหน้าที่ “การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน” และกฎหมายดังกล่าวใน ม.90 ยังกำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.มีฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.นั้น ม.91 กฎหมายยังกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย
ดังนั้นการที่ผู้ว่าฯ กทม.กำหนดให้ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. เป็นพื้นที่ขออนุญาตจัดชุมนุมสาธารณะได้ตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณา 2558 ผู้ว่าฯ กทม.ก็ต้องมีหน้าที่ที่จะควบคุม ดูแล ให้ผู้ชุมนุมหรือกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 ต้องปฎิบัติให้อยู่ในกรอบการชุมนุมสาธารณะ และตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ฉบับลงวันที่ 23 ส.ค.65 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 อย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังต้องถือปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัย ม.8(5) แห่งพรบ.การชุมนุมสาธารณะด้วย
แต่ผู้ว่าฯ กทม.กลับละเว้นหรือเพิกเฉยเสีย ปล่อยให้ผู้ชุมนุมอยู่อาศัยในลานคนเมืองหรือค้างคืนได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นข้อห้าม จนกระทั่งเกิดการรวมตัวกันในยามเช้าและเคลื่อนขบวนออกมาเกิดเหตุการปะทะกันขึ้นเมื่อ 18 พ.ย.65 ระหว่างตำรวจ คฝ.และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ละเมิดกฎหมาย จนมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย และทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย เช่นนี้ ผู้ว่าฯ กทม.ย่อมเข้าข่าย “การทุจริตต่อหน้าที่” อันถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามนัยยะทางกฎหมายแห่ง ม.4 ของ พ.ร.ป. ป.ป.ช.2561 โดยชัดแจ้ง
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมฯ จึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมายื่นร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยเอาผิดตามครรลองของกฎหมายต่อไป