พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เผยผู้ว่าฯ กทม.ปลดได้หรือไม่ หลังทำตัวเป็นผู้ว่าฯเฉยไม่จัดการม็อบต้านเอเปกที่ออกไปประท้วงนอกลานคนเมือง
จากกรณีในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก 2022 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้เกิดการเคลื่อนไหวของม็อบกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ออกมาเรียกร้องจะยื่นหนังสือถึงผู้นำชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมเอเปก และพยายามจะนำมวลชนจากลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. มุ่งหน้าไปยังสถานที่จัดการประชุม จนเกิดการเผชิญหน้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนที่ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง บริเวณถนนดินสอ ก่อนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.
ล่าสุดวันนี้ (20 พ.ย.) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความในประเด็น ปลดได้หรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม.กับม็อบต้านประชุมเอเปก โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
“ปลดได้หรือไม่ ?? ผู้ว่าฯ กทม. กับม็อบต้านการประชุมเอเปก 2022
ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศปปส.) ยื่นเรื่องถึงกระทรวงมหาดไทยเสนอให้ปลดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง หนุนหลัง หรือให้ท้าย เบาที่สุดก็คือทำตัวเป็น "ผู้ว่าฯ เฉย" (ไม่ใช่ "จ่าเฉย") ไม่ดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปห้ามปราม โดยการห้ามทัพไม่ให้ผู้ชุมนุมออกจากสถานที่ชุมนุมที่จัดให้อย่างดิบดี เพื่อไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากสถานที่ชุมนุม ด้วยการเข้าไปห้ามปรามอย่างจริงจังจนเป็นที่ประจักษ์ หรือทำตามที่ตนเองถนัดด้วยการไลฟ์สดเพื่อเป็นการห้ามปรามก็ตามทีเถอะ!!!
ในฐานะที่กระผมเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรับผิดชอบหน้างานทางด้านนี้ (การชุมนุมสาธารณะ) ประกอบกับเคยรับราชการตำรวจที่รับผิดชอบดูแลข้อกฎหมายเรื่องการชุมนุมสาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้นกระผมเป็นผู้ร่วมยกร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้โดยสุจริต .......
การชุมนุมสาธารณะจะกระทำได้ต่อเมื่อ จะต้องแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่โดยมีรายละเอียดที่จะต้องแจ้ง เช่น วัตถุประสงค์การชุมนุม วัน เวลา สถานที่ที่จะทำการชุมนุม ลักษณะการชุมนุม แกนนำการชุมนุมหรือผู้ประสานงาน ข้อเรียกร้อง และเมื่อถึงกำหนดจะต้องยุติการชุมนุมทันที ห้ามเคลื่อนย้ายการชุมนุมออกจากสถานที่ที่แจ้งการชุมนุมฯ เช่น สถานที่ชุมนุมเป็นลานคนเมืองของกรุงเทพมหานคร ก็ต้องชุมนุมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น ห้ามการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมออกจากสถานที่ดังกล่าว ถ้าฝ่าฝืนจะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการชุมนุม ส่วนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ลานคนเมือง และก่อนจัดสถานที่ชุมนุมมีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจัดสถานที่นี้ให้ผู้ชุมนุมใช้ (ประกาศออกสื่ออย่างชัดเจน) แต่เมื่อผู้ชุมนุมทำผิดเงื่อนไขเคลื่อนย้ายการชุมนุมออกนอกสถานที่ เคลื่อนย้ายไปตามถนนกีดขวางการจราจรและไปก่อเหตุรุนแรงขึ้น กรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ ลดหลั่นกันลงไปที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จะต้องมีหน้าที่ห้ามปรามผู้ชุมนุมที่กำลังจะกระทำ หรือกระทำผิดเงื่อนไข อย่างไร หรือไม่? เพราะถ้ามีหน้าที่แล้วไม่ปฏิบัติ (จ่าเฉย) ในที่นี้คือผู้ว่าฯ เฉย ก็จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ซึ่งต้องไปดูในรายละเอียดว่ามีหน้าที่หรือไม่ ถ้ามีหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามหน้าที่ไปแค่ไหนเพียงไร หรือไม่? แต่เท่าที่เห็นเพียงแค่การไลฟ์สดเพื่อห้ามปรามผู้ชุมนุม กระผมก็ยังไม่เห็น ที่พูดตรงนี้ก็เพราะกระผมติดตามผลงานของท่านผู้ว่าฯ ท่านนี้มาโดยตลอด เพราะกระผมเป็น 1 คะแนนที่เลือกท่านด้วยความหวังที่จะเห็นอนาคตของคนกรุงเทพมหานครที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยหวังว่าท่านคงมาทำงานให้กับคนกรุงเทพฯอย่างแท้จริง เหมือนกับคนกรุงเทพฯ อีกล้านกว่าคนที่ลงคะแนนให้กับท่านนั่นแหละครับ.... เอวัง
แถมอีกนิดครับ กับการที่มีผู้ไปกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาความสงบเรียบร้อยในการประชุมเอเปก 2022 ซึ่งถือเป็นหน้าตาของประเทศว่าทำเกินกว่าเหตุ ทำลายประชาชน ขอให้กลับไปดูพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ให้เข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อน.......... ถามหน่อยเถอะ..อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลยกพวกเอากระสุนยางไปยิงใส่ผู้ชุมนุมต่อหน้าผู้ว่าฯ กทม. ที่ลานคนเมืองหรือเปล่าครับ???”