ตัวแทนผู้บาดเจ็บระหว่างร่วมชุมนุมหน้ารัฐสภา 17 พ.ย. 2563 พร้อมนักสิทธิมนุษยชน ยื่นศาลแพ่งฟ้อง “สตช.-ผบ.ตร.” เรียกค่าเสียหายต่อเสรีภาพการชุมนุมและค่ารักษาพยาบาล 3 ล้านบาทเศษ ศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรก 8 ก.พ.ปีหน้า
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (12 พ.ย.) น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด แกนนำม็อบคณะราษฎร และ นางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 จำนวน 9 คน มายื่นฟ้องทางแพ่งกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 3,020,147 บาท และขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวาง และใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล
นางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันนี้มาฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งมองว่า เหตุการณ์ขณะนั้นยังไม่มีผู้ชุมนุม และยังมีการสัญจรไปมาตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ และถือเป็นการสลายการชุมนุมตั้งแต่ยังไม่ใช่เวลานัดหมายชุมนุม ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้รับบาดเจ็บรวม 9 ราย จึงมาขอความเป็นธรรมในวันนี้ โดยค่าเสียหายทั้งหมด เฉลี่ยคนประมาณ 3 แสนบาท และมีผู้เสียหาย 1 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุด เรียกค่าเสียหาย 4 แสนกว่าบาท โดยได้นำหลักฐานเป็นภาพถ่ายมาและมีใบรับรองแพทย์ แนบมาด้วย
ขณะที่ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด หนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการประชุมสภาฯ และยังไม่ได้เริ่มมีการชุมนุม แต่ตำรวจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ทั้งการตั้งแนวรั้วกันพื้นที่ การใช้น้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม ซึ่งการกระทำดังกล่าว มองว่า ผิดหลักสากล และผิดต่อหลักกฎหมาย และในวันดังกล่าวไม่ได้มีการแจ้งหรือเจรจา เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรง
ทำให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย และบาดเจ็บสาหัส โดยการฟ้องในวันนี้จะเป็นการเรียกค่าใช้จ่ายการได้รับบาดเจ็บ และค่าเสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิการเดินทาง รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกขัดขว้างการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพราะมองว่า การที่ตำรวจตั้งเครื่องกีดขวางการใช้สิทธิในการชุมนุมนั้น ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนชุมนุมเราได้แจ้งการชุมนุมแล้ว และจากเหตุการณ์ดังกล่าวตนเองกับผู้ชุมนุมประมาณ 6 คน ถูกดำเนินคดีข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการว่าจะฟ้องหรือไม่
ด้าน นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความ กล่าวว่า การมายื่นฟ้องวันนี้ เพื่อยืนยันว่า การขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมจะต้องได้รับการตรวจสอบจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้รับการเยียวยา และเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขวางการชุมนุมเกิดขึ้นอีก และคาดหวังว่า คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับกรณีต่างๆ ซึ่งในวันนี้ก็จะขอให้ศาลกำหนดมาตรการว่าต่อไปจะต้องไม่มีการใช้กำลังเข้ามาควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะอีก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยยืนยันว่า การชุมนุมในวันที่ 17 พ.ย. 2563 เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และคดีนี้เคยได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง จึงอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้ตัดสินใจถอนฟ้อง เพราะมองว่ามีความคลุมเครือของเขตอำนาจศาล และมายื่นศาลแพ่งแทนในวันนี้ เพราะทางอายุความการจะยื่นฟ้องคดีใหม่ต่อศาลยุติธรรมจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่เกิดเหตุ
ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.5341/2564 และนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 8 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.