xs
xsm
sm
md
lg

“ณัฐชนน” โดนคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ละเมิดอำนาจศาล กดดันโจมตีศาลให้ปล่อยแกนนำม็อบราษฎร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


นายณัฐชนน ไพโรจน์ แกนนำม็อบราษฎร ละเมิดอำนาจศาล (แฟ้มภาพ)
ศาลสั่งลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา “ณัฐชนน” ละเมิดอำนาจศาล ร่วมป่วนตะโกนด่า-กดดันศาลให้ปล่อยแกนนำม็อบราษฎร เมื่อ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา

วันนี้ (1 พ.ย.) ศาลอาญา นัดอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ล.ศ.8/2564 ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา ตั้งเรื่องไต่สวน นายณัฐชนน ไพโรจน์ แกนนำม็อบราษฎร ผู้ถูกกล่าวหา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตาม ป.วิ แพ่ง มาตรา 31, 33

กรณีเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ชักชวนกันมาทำกิจกรรมยื่นจดหมาย พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัติ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาบริเวณศาลรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา โดยระหว่างที่มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยืนอยู่หน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญา พูดผ่านเครื่องขยายเสียงข้อความว่า “ผมขอไม่นับว่าท่านจบที่ธรรมศาสตร์ที่เดียวกับผม เพราะท่านไม่เคยรักประชาชนเหมือนที่มหาลัยสอน และข้อความอื่น ฯลฯ” และยังได้ร่วมตะโกน “ชนาธิปออกมารับจดหมาย” หลายครั้ง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตรงกันว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีการร่วมชุมนุมของกลุ่มมวลชนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาลอาญา เพื่อยื่นจดหมาย พร้อมทั้งยืนอ่านบทกลอนตุลาการภิวัติ เพื่อเรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจำนวน 7 คน ซึ่งอยู่ในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม โดยมีผู้ถูกกล่าวหาร่วมชุมนุมอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญาและพูดโจมตีผ่านเครื่องขยายเสียง

ข้อเท็จจริงในส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหา เบิกความว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความรู้สึกร่วมว่าในการประกันตัวของผู้ต้องหาในศาลชั้นต้น ผู้ต้องหาควรได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และควรได้รับการประกันตัว เมื่อมีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมบางคนไม่ได้รับการประกันตัว จึงมีความรู้สึกว่าศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรม

เห็นว่า เนื้อหาข้อความในการพูดของผู้ถูกกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิทธิการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีความคิดเห็นต่างไปจากดุลยพินิจของศาล ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถคิดและแสดงความคิดเห็นดังกล่าวได้ แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมในการชุมนุมดังกล่าวและพูดตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ขู่ตะคอก เอะอะโวยวายร่วมกับผู้ชุมนุมอื่น อีกทั้งในขณะที่ผู้ร่วมชุมนุมอื่นใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีการทำงานของศาล ผู้ถูกกล่าวหายังส่งเสียงโห่ร้องและแสดงกริยาสนับสนุนด้วยถ้อยคำที่ก้าวร้าวและยังร่วมตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” พฤติกรรมดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว แต่มีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 188 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง” อันเป็นหลักประกันในความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) มาตรา 3(1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) มาตรา 15 จึงมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหา เป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่รอลงอาลงญา

ต่อมา นายณัฐชนน จำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัว โดยตีราคาประกัน 50,000 บาท จากนั้นจึงเดินทางกลับ
กำลังโหลดความคิดเห็น